ป่วยฉุกเฉินไม่ต้องห่วง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมให้บริการทั่วประเทศ 80 ศูนย์ ครอบคลุมทุกจังหวัด พร้อมบุคลากรช่วยเหลือกว่า 8,500 ทีม รถฉุกเฉิน 13,000 คัน เครื่องบินกว่า 100 ลำ พร้อมระบบ SKY DOCTOR ไปได้ทุกพื้นที่เข้าถึงยาก เพียงโทรสายด่วน 1669 ตั้งเป้าหมายไปถึงใน 8 นาที
นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2551 เกิดขึ้นมาพร้อมพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน ภารกิจที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ก็คือ เราจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง
โดยทางบก ได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ 80 ศูนย์ โดยใน 1 จังหวัดจะมีอย่างน้อย 1 ศูนย์ และจัดให้มีหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้คนแจ้งอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ามาได้ ที่เบอร์ 1669 เช่น อยู่ขอนแก่น โทรเข้ามาก็จะไปเข้าศูนย์ที่ขอนแก่น โทรที่กรุงเทพฯ ก็จะไปเข้าศูนย์ที่กรุงเทพฯ โทรที่อุดรฯ ก็ไปเข้าไปที่ศูนย์อุดรฯ เมื่อมีคนโทรเข้ามาหรือได้รับแจ้ง เราก็จะจัดการประเมินผู้ป่วยว่า เจ็บป่วยหนักแค่ไหน จะต้องส่งรถและทีมไปรับมาโรงพยาบาล ซึ่งในการจัดการส่วนนี้ เรามีทีมอยู่ประมาณ 8,500 ทีม มีรถอยู่ประมาณ 13,000 คัน มีเครื่องบินอีกประมาณ 100 ลำ ส่วนทางน้ำก็จะมีระบบเชื่อมกันทั้งกองทัพเรือ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิฯ และในพื้นที่ที่เป็นน้ำ เช่น ในคลองต่าง ๆ ก็สามารถไปรับได้
“สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้สร้างระบบขึ้นมาระบบหนึ่ง เรียกว่า SKY DOCTOR เป็นระบบที่สร้างขึ้นมาให้กับประชาชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยาก รถไปถึงช้า พื้นที่นี้ครอบคลุมทั้งประเทศ มีการลงนาม MOU กับหน่วยงานต่างๆ เรามีระบบที่เชื่อมโยงกันทั้งทางบก น้ำ อากาศ เป็นระบบที่ให้บริการประชาชนฟรีทั่วประเทศ นอกจากการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์แล้ว เรายังมีแอปพลิเคชั่นให้ด้วย ไม่ว่าอยู่ตรงไหน ก็สามารถใช้บริการอันนี้ได้เช่นเดียวกัน”
นอกจากนั้นยังมีการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่พิเศษ ในปัจจุบัน มี 2 พื้นที่ พื้นที่ที่ 1 คืออุทยานแห่งชาติต่างๆ จะมีระบบที่จะเชื่อมโยงการช่วยเหลือเจ็บป่วยฉุกเฉินไปอุทยานแห่งชาติทั้งหมดแล้ว บางพื้นที่เป็นพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่ทางยุทธการ กรณีที่มีความไม่สงบ การประท้วงต่าง ๆ จะมีทีมเฉพาะและผ่านการอบรมแล้วเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยออกมาอย่างเร็วที่สุด
ปัจจุบัน สพฉ.มีโครงการที่รับสนองนโยบายรัฐบาลมาดำเนินการ เรียกว่านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ เป็นนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าถึงบริการง่ายขึ้น คือของเดิมเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็ต้องไปเข้าสิทธิที่ตัวเองมี ถ้าเป็นประกันสังคมก็ต้องไปเข้าโรงพยาบาลของประกันสังคม แต่ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมาก เช่น เส้นเลือดในสมองแตกจะรอไปถึงโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีสิทธิอยู่ไม่ทัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายขึ้นมาว่า ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตแล้วเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน ทุกคนในประเทศนี้ที่เป็นคนไทย สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง โดยมีเกณฑ์ระบุกรณีเจ็บป่วย ดังนี้
1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3.ซึมลง มีเหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6.มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
สิ่งที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน คือเมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เรามีบริการ สายด่วน 1669 ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีหลายคู่สาย เพราะฉะนั้นเมื่อท่านโทรเข้ามาจะมีผู้รับสายเสมอ เวลาโทรเข้าไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็อยากจะทราบว่าท่านเจ็บป่วยอะไรบ้าง บางท่านก็จะบอกว่าขอให้ผู้ป่วยมาพูดเองได้ไหม เราอาจสงสัยว่า ผู้ป่วยเจ็บหนักอยู่จะให้มาพูดสายทำไม อันนี้เป็นวิธีทางการแพทย์ ทันทีที่บอกว่าผู้ป่วยพูดไม่ได้ อาหารหนักมาก หมดสติอยู่ เขาก็รู้แล้วว่าผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยสีแดง จะต้องส่งทีมไหนไปรับ หากมีความจำเป็นและจะต้องให้ความเห็นในขณะนั้นเลย วางสายไม่ได้ อย่างเช่น มีอาการซึมเศร้า และมีความคิดอาจฆ่าตัวตาย หรืออาจจะต้องปั้มหัวใจ หรือจะต้องทำคลอด เจ้าหน้าที่เราก็จะดำเนินการให้คำแนะนำระหว่างนั้นไปด้วยเลย
“การบริการที่ยอดเยี่ยมอีกอย่างในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีอยู่กว่า 13,000 คันให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จะมีเครื่องช่วยชีวิตครบทั้งปอดและหัวใจเทียม สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีความฉุกเฉินมาก ๆ ได้ ซึ่งจะแบ่งเป็นชนิดอาการเจ็บป่วยเป็นขั้นสูง ขั้นพื้นฐาน และที่เรามีความจำเป็นมาก ๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าทันทีที่ผู้ป่วยโทรเข้ามา เราจะออกไปรับบริการถึงจุดให้ได้ภายใน 8 นาที อันนี้เป็นความตั้งใจของเรา”
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เรามุ่งมั่นและพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็วและเต็มความสามารถ เพราะเราเข้าใจดีว่า ทุกเสี้ยววินาทีมีค่า สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน หากท่านพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร.1669 สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน