กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เชิญชวนผู้ประกอบกิจการ เข้าร่วมพัฒนาทักษะแรงงานในโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ประจำปี 2563
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงาน ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีปฏิรูปคนทำงาน (Workforce transformation) รองรับกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการด้าน SME กพร. จึงจัดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 ขึ้น อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2562 มีสถานประกอบกิจการ กลุ่มโอทอป และวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 228 แห่ง พนักงานได้รับการพัฒนาทักษะให้มีความรู้เชิงวิเคราะห์ จำนวน 15,000 คน สามารถลดการสูญเสียในวงจรการผลิต และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ในปี 2563 จึงตั้งเป้าหมายดำเนินการอีก 300 แห่ง พัฒนาทักษะพนักงานในสถาประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการอีกกว่า 15,000 คน โดยส่งทีมที่ปรึกษาเข้าไปศึกษากระบวนการผลิตและขั้นตอนในการทำงาน เพื่อหาจุดบกพร่องที่ส่งผลต่อต้นทุน แล้วนำมาวิเคราะห์หาวิธีการแก้ไข เป็นระยะเวลา 210 วัน พร้อมจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในสถานประกอบกิจการ ให้มีความรู้ในการวิเคราะห์งาน เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ สามารถนำความรู้ไปขยายผลในการทำงานแผนกอื่นๆ ต่อไปด้วยโครงการนี้ จึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของสถานประกอบกิจการได้ สามารถลดต้นทุน เพิ่มปริมาณการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าได้
คุณกิตติ์ธนัตถ์ ไชยวงค์ษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคอิเด็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับ ผลิตและจำหน่ายเบาะรถยนต์ส่งออกต่างประเทศ ส่งออก 100% ไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย มีพนักงานตัดเย็บกว่า 100 คน ได้ร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่เมื่อปีงบประมาณ 2562 มีเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับ ระบบคลังสินค้า เนื่องจากหนังที่นำมาเย็บทำเบาะรถยนต์ มีหลายสี หลายขนาด จัดวางไม่เป็นระเบียบ เพราะพนักงานไม่มีความรู้ และไม่เข้าใจว่าควรจัดวางอย่างไร ทำให้เวลาจะนำไปใช้งาน ใช้เวลาในการค้นหานาน แต่พอมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำ ให้ความรู้ วางผังระบบคลังสินค้าให้ใหม่การทำงานจึงรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์เกี่ยวกับกระบวนการผลิตเบาะรถยนต์ด้วยว่า ขั้นตอนไหนส่งผลต่อการผลิตล่าช้า และเกิดความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งพบว่า ใบมีดในการตัดหนังขณะทำการเย็บ หากใบมีดที่ใช้ไม่คม ส่งผลให้การตัดชิ้นงานชำรุด การเย็บไม่เรียบร้อย บริษัทจึงมีการเปลี่ยนใบมีดของจักรเย็บเป็นประจำทุกวัน ทำงานการทำงานเร็วขึ้น อีกส่วนหนึ่งที่บริษัทได้รับประโยชน์อย่างมากในครั้งนี้คือ สพร.19 เชียงใหม่ ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในการซ่อมบำรุงจักรเย็บ ทำให้ช่วยยืดอายุการใช้งาน รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาในการซ่อมจักรเย็บในเบื้องต้นได้ ไม่ต้องรอช่าง ในกรณีที่จักรเย็บขัดข้องเพียงเล็กน้อย เป็นต้น
“การดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพนั้น กพร. ได้จัดเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบกิจการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และพนักงานยังได้รับความรู้ เพื่อปรับกระบวนการทำงานให้ดีขึ้นอีกด้วย ผู้ประกอบกิจการที่สนใจ สามารถโทรสอบถามได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 เพราะคุณคือคนที่จะได้รับประโยชน์จริงๆ“ อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย