สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ชี้ “แย่แน่ๆ..ถ้าไม่ดูแลผิวหนังช่วงหน้าฝน” โรคผิวหนังที่หลากหลายในหน้าฝน อันตราย ไม่ควรมองข้าม
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคผิวหนังเป็นภาวะที่หลีกเลี่ยงได้ยากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากอากาศอับชื้นเหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิตต่างๆ จึงควรดูแลผิวหนังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนที่มีเหงื่อเยอะจากการทำงาน ออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวาน หรือคนที่ชอบลุยไม่กลัวแดดกลัวฝน อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังจากเชื้อรา แบคทีเรีย และปรสิต เช่น โรคเกลื้อน โรคสังคัง โรคเท้าเหม็น โรคน้ำกัดเท้า โรคเชื้อราที่เท้า โรคพยาธิไชชอน ซึ่งโรคต่างๆ ดังกล่าว มักทำให้เกิดความรำคาญ กระทบกับความสวยงาม ตลอดจนบุคลิกภาพ แต่สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเกิดโรคคือ จะเกิดแผลบนผิวหนังตามมา เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ ผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกายเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต มีอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น โรคฉี่หนู และโรคบาดทะยัก
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงฤดูฝนควรดูแลเสื้อผ้าที่สวมใส่ ควรซักให้สะอาด ไม่มีผงซักฟอกตกค้าง และผึ่งแดดให้แห้งสนิท ไม่ควรนุ่งกางเกงผ้าหนาๆ เช่น กางเกงยีนส์ เพื่อลดความอับชื้นที่ผิวหนัง ดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะหนังศีรษะ หากตากฝน ควรสระผมและเป่าให้ผมแห้งสนิทก่อนนอน ถ้ามีการย่ำน้ำท่วมขัง ควรสวมรองเท้าบูท เพื่อป้องกันการสัมผัสน้ำโดยตรง และหากจำเป็นต้องสัมผัสลุยน้ำ ให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง หากมีรอยแผลควรเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ควรดูแลบ้านเรือน ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย และกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ หากมีแผลควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก