สธ.จัดเสวนาวิชาการ “ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงานสู่ผู้บริโภค”

กระทรวงสาธารณสุข จัดเสวนาวิชาการ “ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงานสู่ผู้บริโภค” ให้ประชาชน-สังคมได้รับข้อมูลที่รอบด้านของสารเคมีอันตราย พร้อมนำคณะผู้บริหาร ภาคีเครือข่ายแสดงจุดยืน “ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร”

 

วันที่ 21ตุลาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร  สื่อมวลชน ร่วมเสวนาวิชาการ “ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงานสู่ผู้บริโภค” พร้อมนำคณะผู้บริหาร ภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนแสดงจุดยืน” ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร” เพื่อให้ประชาชนสังคมได้รับข้อมูลที่รอบด้าน เกี่ยวกับสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 สาร คือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เกษตรกร ผู้ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

นายอนุทิน กล่าวว่าการเสวนาครั้งนี้ ทำให้ได้รับองค์ความรู้ ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความรุนแรง ผลกระทบต่อสุขภาพหากยังใช้ 3 สาร คือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส  ต่อพี่น้องประชาชน  รวมทั้งเกษตรกร  ซึ่งเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากผลการใช้สารเคมี ต้องเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ ที่สำคัญยังพบว่ามีผลไปถึงทารกในครรภ์ ดังนั้น จำเป็นต้อง “ห้ามใช้ ห้ามขาย ห้ามตาย” เรื่องกำไรขาดทุนเอามาแลกกับความเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน การตายจากการใช้สารเคมีไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งไม่เฉพาะ 3 สารเท่านั้น แม้แต่สารเคมีอื่นๆที่เป็นอันตรายก็ไม่สนับสนุนให้ใช้

นายอนุทิน กล่าวว่า การเสวนาวิชาการในครั้งนี้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมรับฟังด้วย ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้ใส่เสื้อขาวเป็นสัญลักษณ์ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรทั้ง 3 สาร พร้อมให้กำลังใจรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นด่านหน้าการต่อสู้เพื่อพี่น้องประชาชน เกษตรกรและกรรมการ 3 ท่าน คืออธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการ อย. ที่จะเป็นตัวแทนทำหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ปกป้องรักษาสุขภาพของคนไทย นำนโยบายของ รมว.สธ. ปลัด สธ. ไปโหวตแบบเปิดเผยต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันพรุ่งนี้ เพื่อประชาชน เพื่อเกษตรกร ส่วนผลเป็นอย่างไร ขึ้นกับคณะกรรมการ ผู้บริหารทุกคนจะร่วมกันรับผิดชอบ

สำหรับผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ , รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล  มหาวิทยาลัยนเรศวร, ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์  มหาวิทยาลัยมหิดล, นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai -PAN), นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) ตัวแทนผู้บริหารจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข