กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืช ผักด้วยหลักธรรมชาติ นำของเหลือใช้มาผลิตน้ำหมักชีวภาพใช้แทนปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แถมได้สุขภาพดี
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพบผู้ป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งรัดในการจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ โดยตั้งเป้าหมายให้ยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ประกอบด้วย พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต ภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งกรม สบส.เองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการปัญหาภัยสุขภาพดังกล่าว ดังนั้น เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงอยากเชิญชวนพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ปฏิบัติตนเป็นบุคคลต้นแบบในการ ละ เลิก ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) โดยอาจจะเริ่มจากในครัวเรือนของตนเองก่อนที่จะขยายผลออกไปสู่บ้านใกล้เรือนเคียง และชุมชน ซึ่งการปลูกพืชผักตามหลักเกษตรอินทรีย์จะใช้เศษอาหารจากครัวเรือน หรือพืชผลที่ไม่ได้ใช้มาทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรมร่วมในการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค อีกทั้งผลผลิตที่ได้ก็ขายได้ราคาสูงกว่าปกติ จึงกล่าวได้ว่าการทำเกษตรอินทรีย์นั้นจะช่วยส่งเสริมทั้งในด้านรายได้ ลดรายจ่าย และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภคด้วย
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิดนั้น นอกจากจะส่งผลต่อตัวผู้ใช้แล้วยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และบุคคล อาทิ พาราควอต จะส่งผลกระทบต่อปอด โดยถุงลมปอดจะถูกทำลายจากการรับสัมผัสทางการกิน และทางเดินหายใจส่วนบนจะถูกทำลายหากได้รับสัมผัสจากการหายใจ ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต ส่วนพิษของสารคลอร์ไพริฟอส จะทำให้เกิดการลดลงของไอคิว การสูญเสียความทรงจำในการทำงาน รบกวนการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมน ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ หากหญิงตั้งครรภ์มีการสัมผัสสารดังกล่าว อาจมีผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของเด็กในครรภ์ และพิษของไกลโฟเซตนั้น สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็ง(2A) ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL ทั้งยังเป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ และอาจก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ ทั้งนี้ อสม. สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารความรู้ในเรื่องอันตรายของสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ผ่านทางแอพพลิเคชัน ของอสม. ได้ และอสม. สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปถ่ายทอดให้ประชาชนรับทราบต่อไปได้อีกด้วย