นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์พบการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราพื้นที่จังหวัดนราธิวาส พาหะนำเชื้อราโรคนี้มาคือลมพัดมาอยู่ในสวนยางพาราของเกษตรกรทั้งในดิน,กิ่งพันธุ์ หรือวัสดุที่ปลูก ฝังตัวอยู่ได้นานจนเมื่ออุณหภูมิเหมาะสมด้วยสภาพความชื้นเชื้อจึงฟักตัวและเกิดการระบาดขึ้นมีผลทำให้ผลผลิตลดลง 30 – 50% ทั้งนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรในเรื่องของการเคลื่อนย้ายวัสดุปลูก ใบยาง กิ่งตายาง อย่าเคลื่อนย้ายไปสู่จังหวัดหรือพื้นที่อื่น ด้วยว่าขณะนี้มีรายงานการเฝ้าระวังและตรวจเช็คอยู่ว่าในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลาอาจมีการติดเชื้อของโรคใบร่วงในยางพารา จึงเฝ้าระวังในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรฯได้ประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เพื่อเตรียมการใช้สารเคมีโดยจะใช้โดรนขึ้นบินและพ่นสารเคมีเพื่อทดสอบว่าวิธีนี้จะสามารถยับยั้งการระบาดเชื้อราของโรคใบร่วงในยางพาราได้หรือไม่ ทั้งนี้ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงประธานสภาเกษตรกรจังหวัด 3 จังหวัด คือ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา เพื่อขอให้สำรวจพื้นที่มีการระบาดและพื้นที่ที่ยังไม่ระบาดเพื่อควบคุมพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรบำรุงต้นยางให้มีความสมบูรณ์เพื่อต้านทานโรคใบร่วงในยางพารา ส่วนความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยจะเข้าปรึกษากับทาง กยท.เพื่อดูระเบียบในการใช้กองทุนพัฒนายางพาราโดยเฉพาะ (5) เรื่องสวัสดิการที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย วาตภัย หรือภัยจากโรคระบาด กองทุนนี้จะไปเยียวยาให้เกษตรกรที่เกิดโรคระบาดนำไปดูแลยับยั้งเชื้อหรืออาจนำไปซื้อปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นยางต่อไปได้หรือไม่
ด้าน นายประหยัด ลอแม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส เผยว่า โรคใบร่วงในยางพาราพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเริ่มมีมา 2 ปีแล้วแต่ไม่รุนแรงเหมือนกับปีนี้ การระบาดเกิดจากลมที่พัดมาจากประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุกเหมือนกับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย จากการจัดเก็บข้อมูลการระบาดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสพบที่ระบาดมากคือ อำเภอแว้ง 83,000 ไร่ อำเภอสุไหงปาดี 57,000 ไร่ อำเภอสุคิริน 34,250 ไร่ อำเภอสุไหงโกลก 12,000 ไร่ อำเภอระแงะคิดเป็น 70% ของพื้นที่ อำเภอรือเสาะคิดเป็น 90-100% ของพื้นที่ พื้นที่อำเภออื่นๆพบการระบาดบ้างแต่เกษตรกรเข้าใจว่าเมื่อฝนตกชุกใบยางก็ต้องร่วงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการผลัดใบต้นยาง จึงขอให้เกษตรกรสังเกตที่ใบยางว่ามีลักษณะวงกลมสีเหลืองเป็นจุดจุดเหมือนรอยไหม้ ร่วงจนเหลือแต่กิ่ง ก้าน คำแนะนำในเบื้องต้นให้เกษตรกรหยุดกรีดยางแล้วใส่ปุ๋ยบำรุงเพื่อให้ต้นยางมีความสมบูรณ์และต้านทานโรค ทั้งนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาสได้ประสาน กยท.อำเภอสุไหงโกลกได้ทำการทดลองใช้โดรนบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อราโปรยทางอากาศให้กับต้นยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลโละจูด หากได้ผลจะนำขยายไปยังพื้นที่ระบาดอำเภออื่นต่อไป