กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มบริการดูแลสุขภาพช่องปากในเด็กวัยเรียน(อายุ 4-12 ปี) และหญิงตั้งครรภ์ ครอบคลุมทุกสิทธิ ป้องกันการสูญเสียฟันถาวร
วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมการดำเนินงานทันตสุขภาพ ปี 2563 จัดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคช่องปากทุกกลุ่มวัย และชี้แจงแนวทางการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule) โดยมีบุคลากรทันตสาธารณสุขจากศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาล เข้าร่วมประชุม จำนวน 300 คน
นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับทุกกลุ่มวัย ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เพิ่มบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากในเด็กวัยเรียน และหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิการรักษา เพื่อเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการมีสุขภาพช่องปากที่ดี ในช่วงวัยต่อไปของชีวิต ได้รับบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่เกิดโรคในช่องปากที่ลุกลามจนสูญเสียฟันถาวร เป็นไปตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP&P Excellence) ที่ตั้งเป้าให้ประชาชนอายุ 80 ปี มีฟันแท้ใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ การมีสุขภาพช่องปากที่ดีจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สุขภาพองค์รวมของประชาชนดีขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2560 พบว่า สภาวะสุขภาพช่องปากของประชากรไทยมีแนวโน้มในภาพรวมดีขึ้น โดยโรคฟันผุในเด็กอายุ 5 และ 12 ปีลดลง จำนวนฟันถาวรที่ใช้เคี้ยวอาหารได้ในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และอัตราการสูญเสียฟันในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุลดลง แต่การเข้าถึงบริการของแต่ละกลุ่มวัยยังต่ำ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน พบว่าได้รับการตรวจฟันไม่ถึงร้อยละ 50 รวมทั้งกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและฮอร์โมน ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์และโรคฟันผุ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในครั้งนี้ทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการมากขึ้น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก ขัดและทำความสะอาดฟัน รวมทั้งเด็กวัยเรียน (อายุ 4-12 ปี) สามารถเข้ารับบริการเคลือบฟลูออไรด์และเคลือบหลุมร่องฟัน ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง