ในระยะนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยลง กรมชลประทาน ย้ำแม้จะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการออกประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าด้วย เรื่อง การเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2562 ระบุว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ในวันที่ 17 ต.ค.2562 เนื่องจากอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน จะลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยในระดับล่างที่ความสูงประมาณ 100 เมตรถึงประมาณ 3,500 เมตร ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงประมาณ 5,000 เมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก รวมทั้งปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนาแน่นต่อไป นั้น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ (15 ต.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 50,999 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 27,070 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 12,097 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,401 ล้าน ลบ.ม.
กรมชลประทาน ดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามฤดูกาลให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งหน้าให้มากที่สุด ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก พร้อมขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันทีอีกด้วย
………………………………………………
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
15 ตุลาคม 2562