“ครูโอ๊ะ”ลงพื้นที่เมืองลุง ฟังเสียงพื้นที่ แจงเดินหน้าสานงานทะลุเป้า!!

พัทลุง/ วันที่ 11 ตุลาคม 2562 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พะโยม ชินวงษ์ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย ณ โรงเรียนวีรนาถศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในการพบปะผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชน ว่า “ ภายหลังการตรวจเยี่ยม และรับฟังการทำงานของโรงเรียนเอกชนแล้วนั้น ทำให้ได้รับทราบปัญหาหลายอย่าง ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ได้กำหนดนโยบายสำคัญหลายประการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชน โดยมีนโยบายที่ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรม ได้แก่

1. เพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน จากไม่เกินคนละ 100,000 บาทต่อคนต่อปี มาเป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลไม่เพียงพอ โดยจะเริ่มเบิกจ่ายตามเพดานค่ารักษาพยาบาลใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

2. จัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายของกระทรวงฯ ปี 2562 ให้ สช. จำนวน 23 ล้านบาท เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ 5 เรื่อง ได้แก่
1. การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ปฐมวัย
2. การจัดการเรียนรู้วิชา Coding
3. การใช้ภาษาอังกฤษบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (EIS)
4. การสอนคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิด
5. การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผล
โดยกำหนดจัดอบรมตามเขตพื้นที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาค  18  ภาค  และ กทม.ระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2562

3. ผลักดันงบประมาณปี 2563 เพื่อพัฒนาผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนจำนวน 111 ล้านบาท (งบพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชน 111,172,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 12.5 ล้านบาท)  ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะใช้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญ ได้แก่
3.1 อบรมผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ เช่น
(1) อบรมผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
(2) สะเต็มศึกษา  Coding  และพลังงานทดแทน
(3) อบรมครูปฐมวัย
(4) ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
(5) ศาสตร์พระราชา และการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(6) เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา
(7) การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษและความสามารถพิเศษ
3.2 ส่งเสริมการเรียนการสอนออนไลน์ในโรงเรียนในระบบและนอกระบบ

4. ส่งเสริมกิจการลูกเสือในโรงเรียนเอกชน โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ลูกเสือจิตอาสา  และลูกเสือมัคคุเทศก์ ของโรงเรียนเอกชน โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

5. แก้ไขปัญหาการค้างจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน โดยปกติ สช. จะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทำให้มีการค้างจ่ายเงินอุดหนุนกับโรงเรียนเป็นประจำทุกปี  ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน  และการจ่ายเงินเดือนครู  จึงมีนโยบายให้มีการเกลี่ยงบประมาณภายในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อช่วยเหลือนักเรียน ครู และโรงเรียนเอกชน สำหรับปีงบประมาณนี้ได้เกลี่ยงบประมาณจากหน่วยงานอื่นให้ สช. จำนวน 250 ล้านบาท จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2562 สามารถเบิกจ่ายเงินอุดหนุนได้ครบตามจำนวนและไม่ให้มีการค้างจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียน

6. ให้การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบอุทกภัย จำนวน 20 โรงเรียน โดยมอบหมาย สช. ลงพื้นที่  เพื่อมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้น โรงเรียนละ 10,000 บาท และสมาคม ปสกช.ร่วมสมทบอีก โรงเรียนละ 5,000 บาท

7. แข่งขันทักษะวิชาการ (นักเรียนเกรดอ่อน) ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะของนักเรียนตามความถนัด

8. นำเสนอ Best Practice ของโรงเรียนเอกชนทุกประเภทต่อสาธารณะ เช่น โรงเรียนพลังงานต้นแบบ (ศรีแสงธรรม)

9. ศึกษาแนวทางการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนโรงเรียนเอกชน เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนร่วมกับ สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

จากนโยบายและการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาและจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนที่ดิฉันได้ร่วมผลักดันในวันนี้ จะส่งผลให้โรงเรียนเอกชนมีความเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป “ รมช.ศธ.กล่าว

จากนั้นได้เยี่ยมชมนิทรรศการของโรงเรียนเอกชน นิทรรศการผลงานด้านพัฒนาทักษะอาชีพของ กศน.ในจังหวัดพัทลุง และเปิดค่ายมวยวีรนาทยิมส์ ของโรงเรียนนีรนาทมูลนิธิ ตามโครงการส่งเสริมค่ายมวยในสถานศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการกีฬา และให้เด็กที่สนใจได้มีโอกาสในการฝึกหัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬามวยไทยซึ่งกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และเพื่อเป็นการช่วยรักษาศิลปวัฒนธรรมไทย สืบสานกีฬาอันเก่าแก่ของไทยไม่ให้สูญหาย ให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าต่อไป!!