วันที่ 11 ตุลาคม2562 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2562 ณ ทำเนียบรัฐบาล ว่าจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ที่เปิดตัวกันมาระยะหนึ่งจะได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนคนไทยเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และหลายฝ่ายมองว่ายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย วันนี้กระทรวงฯ จึงได้มีการเสนอ 16 กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อเป็นแนวทางกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จัดเป็นมาตรการระยะสั้นจำนวน 11 กิจกรรม และมาตรการระยะกลางและระยะยาว จำนวน 5 กิจกรรม
โดย มาตรการหลัก แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. มาตรการด้านการเงิน การคลังและกฎหมาย 2. มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 3. มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ มาตรการระยะสั้น มีทั้งหมด 11 กิจกรรม ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 – ๖ เดือน ได้แก่ 1. การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 2. การทบทวนกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของกลุ่มคนต่างชาติแรงงานฝีมือ (Expatriate) 3. การหักรายจ่าย 2 เท่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการอบรม สัมมนาภายในประเทศ 4. การอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรา (วีซ่า) แก่นักท่องเที่ยว 5. การขยายเวลาเปิดด่านชายแดน เป็น 24 ชั่วโมง ช่วงสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดเทศกาล 6. เร่งรัดการใช้ระบบ E-Visa ให้ครอบคลุมกับนักท่องเที่ยวจีนทั่วประเทศ 7. ขอความร่วมมือเร่งประชาสัมพันธ์การใช้ระบบ E-VoA ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูล 8. ทบทวนข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมถือบัตรเครดิต/ใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) แทนเงินสด 9. โครงการ Amazing Thailand Grand Sale “Passport Privileges” 10. โครงการประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ กระตุ้นบริษัท (Corporate) โดยให้ Voucher 20,000 บาทต่องาน/กลุ่ม และ 11. ส่งเสริมการจัดประชุมภาครัฐ (Government Meeting)
ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาวนั้น มี 5 กิจกรรม ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน -1 ปี ได้แก่ 1. การขึ้นทะเบียนสถานพักแรมและให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงสถานประกอบการและการบริการให้ได้มาตรฐาน 2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านความปลอดภัย และลดความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของนักท่องเที่ยว 3. เพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4. การจัดมหกรรมระดับโลกหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ เช่น World Event, Ultra Trail Thailand, การจัดคอนเสิร์ต Tomorrow Land, มหกรรมด้านความงามและสุขภาพ อาทิ World Cannabis Expo 5. การประชุมองค์กรจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทย
“จะเห็นว่าทุกมาตรการที่เสนอมาข้างต้นจะมีขอบข่ายพันธกิจที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ตลอดถึงผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนอีกมากมาย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงจำเป็นต้องประสานงานขอความร่วมมือทำงานกันแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้สื่อสารทำความเข้าใจในรายละเอียดและแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกันต่อไป วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาสร้างความรับผิดชอบร่วมกันทั้งภาครัฐภาคเอกชน ผมเชื่อมั่นว่าหากทุกมาตรการสามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามที่เราได้วางแผนไว้ จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย กระจายรายได้ไปยังชุมชนท้องถิ่น เป็นการสร้างโอกาสสร้างรายได้ เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างมหาศาล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะไม่ใช่องค์กรที่สร้างรายได้แต่เพียงอย่างเดียวแต่เราจะร่วมพัฒนาคน พัฒนาประเทศไทยไปพร้อมๆ กันด้วย” รมว.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
……………………………………