เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา ร้ฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำเสนอสรุปการประชุมการถอดบทเรียนการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2562 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้กล่าวรายงานสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือในปีที่ผ่านมาและปี 2563 หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน เข้าร่วมประชุมและรับมอบนโยบาย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะทุ่มเทสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อหยุดการเผา และควบคุมมิให้ฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานตลอดปี 2563
ภายหลังจากการประชุม ท่านรองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลและเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญในการเฝ้าระวังและดับไฟ โดยเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ในการปกป้องพื้นที่ภาคเหนือจากมลพิษหมอกควัน ต่อมา ท่านรองนายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติประกอบพิธีปล่อยขบวนคาราวาน “ต้านการเผา ลดหมอกควัน เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี” โดยมุ่งหวังในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชน ให้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการลด เลิกการเผา และช่วยสนับสนุนการเฝ้าระวังการเกิดไฟและหมอกควัน หนุนนำการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืนต่อไป
โอกาสนี้ นางสาววรรณพร ดอกจำปา ผู้ตรวจราชการกรม (เขตตรวจราชการที่ 15,16,17,18) ว่าที่ร้อยตรีประเทือง ฉัตรอินตา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และนางสาวอรณัชชา สุวรรณชัย ปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง ในฐานะผู้แทนเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข) ได้เข้าร่วมประชุมและรับมอบนโยบายการประชุมครั้งนี้ มีสาระสำคัญในการพิจารณา เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม รวม 6 เรื่อง คือ
1. สรุปผลการประชุมการถอดบทเรียนการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ (After Action Review : AAP ) ปี 2562 โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. การคาดการณ์สถานการณ์การเผาและปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ภาคเหนือ (GISDA) ปี 2563 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
3. แนวทางปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2563 โดยกระทรวงมหาดไทย
4. การสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2563 โดยกระทรวงกลาโหม
5. การมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี้
6. พิธีปล่อยขบวนคาราวาน “ต้านการเผา ลดหมอกควัน เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี” โดยการบริหารจัดการ ควบคุม ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อม มิให้เกิดมลพิษ ตามบทบาทและภารกิจ
ทั้งนี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรี(พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มีความห่วงใยประชาชนพื้นที่ทางภาคเหนือ ต้องเผชิญหมอกควันเป็นประจำทุกปี ในช่วง เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
สืบเนื่องจากสภาวะอากาศช่วงปีนี้ มีความแห้งแล้งปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายและลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งสภาพภูมิประเทศบางแห่งเป็นแอ่งกระทะ เช่น พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน เป็นต้น ฝุ่นละอองไม่แพร่กระจายและสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ โดย ปัญหาหมอกควันยังส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ ธุรกิจการท่องเที่ยวในท้องถิ่น รวมถึงส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยการจราจรทางบกและทางอากาศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 มิให้เกิดสถานการณ์หมอกควันในระดับรุนแรง อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รัฐบาลจึงเตรียมความพร้อมรับมือหมอกควันภาคเหนือปี 2563 โดยระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานแบบบูรณาการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยได้กำชับให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในระหว่างวันที่ 15 มีนาคม-30 เมษายน 2563 นี้