สวทน. เตรียมจัดงาน “CEO Innovation Forum 2018” ตอบรับนโยบายรัฐ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ พร้อมเปิดเวทีระดมไอเดียต่อยอดนวัตกรรม ดันไทยสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ระบุเห็นสัญญาณเอกชนตอบรับพัฒนาเทคโนโลยีแน่น มั่นใจเป้าหมายปี 2561 ดันเม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนา 1% ของจีดีพี
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมจัดงาน CEO Innovation Forum 2018 ภายใต้หัวข้อ “Transforming Thailand Towards Science & Technology Frontier” ในวันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2561 ณ ห้อง Ballroom and Reception Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานภาคเอกชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยจากผลสืบเนื่องของนโยบายและมาตรการของรัฐบาล รวมทั้งได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล
การจัดงาน CEO Innovation Forum 2018 ได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลิกโฉมประเทศไทยสู่ก้าวใหม่ของการพัฒนา” และได้รับเกียรติจากซีอีโอบริษัทชั้นนำระดับประเทศ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะส่งผลต่อประเทศไทยในอนาคต รวมถึงแนวทางการนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า การจัดงาน CEO Innovation Forum 2018 ในครั้งนี้ คาดหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เอกชน และมหาวิทยาลัย รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานภาคเอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา และด้านนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจของภาคเอกชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“จากการสำรวจเทรนด์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา พบว่าภาคเอกชนไทยมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนารวมทั้งประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากรอบการสำรวจประจำปี 2559 เนื่องจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา และรอบการสำรวจในปี 2560 ก็ยังคงเห็นการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ในปี 2560 สถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ยังจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 63 ประเทศ เพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่ผ่านมา สะท้อนความสามารถในการแข่งขันสูง แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทั้งในเชิงสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ สวทน. พยายามส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมระดับสากล เป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ โดยมีเป้าหมายในปี 2561 จะเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนารวมทั้งประเทศให้ถึงร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดย สวทน. ได้วางแผนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอันดับด้านจำนวนบทความด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ที่อันดับที่ 15 มีบุคลากรวิจัยและพัฒนา 60 คน ต่อประชากร 10,000 คน และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 ของ GDP