กรมวิชาการเกษตร ทุ่มพลังปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียว 13 ปี ได้พันธุ์ใหม่ให้ประโยชน์ 2 เด้ง เกษตรกรปลูกได้ขนาดเมล็ดใหญ่ แถมให้ผลผลิตสูง คุณภาพโดดเด่นโดนใจนำไปแปรรูปเป็นวุ้นเส้นได้สีขาวใส คุณภาพเหนียวนุ่ม ปลูกได้ทุกภาคของประเทศ สร้างรายได้เพิ่มทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ถั่วเขียวเป็นพืชเพื่อการบริโภคสำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ถั่งงอก แป้งถั่วเขียว และขนมชนิดต่างๆ รวมทั้งถั่วเขียวยังเป็นพืชอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพที่สำคัญโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตวุ้นเส้นซึ่งตลาดส่งออกวุ้นเส้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่ปลูกถั่วเขียวของประเทศไทยมีจำนวน 868,000 ไร่ ผลผลิตรวม 109,000 ตัน ความต้องการใช้ถั่วเขียวมีถึง 111,945 ตัน
ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง ขนาดเมล็ดใหญ่ และเหมาะสำหรับการแปรรูปจนได้พันธุ์ที่มีลักษณะตามที่ต้องการ ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3” ซึ่งเป็นถั่วเขียวพันธุ์กลายที่คัดได้จากถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 36 ที่ผ่านการฉายรังสีแกมมา คัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ระหว่างปี 2548–2561 และดำเนินการเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน การเปรียบเทียบในท้องถิ่น รวมทั้งการเปรียบเทียบในไร่เกษตรกร ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ และคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งประเมินการยอมรับของเกษตรกรจนได้สายพันธุ์ดีนำเสนอขอรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร โดยผ่านขั้นตอนการรับรองพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตรเป็นพันธุ์พืชรับรอง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วเขียวพันธุ์ใหม่ “ชัยนาท 3” มีลักษะเด่น คือให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 232 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเมล็ดใหญ่ โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 72.2 กรัม การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน ที่สำคัญเหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก โดยคุณภาพของถั่วงอก รสชาติหวาน กรอบ และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวจึงเหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น ซึ่งลักษณะวุ้นเส้นมีสีขาวใส และเหนียวนุ่ม ผลผลิตถั่วเขียว เมื่อเกษตรกรปลูกจะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม 6–13 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลผลิตวุ้นเส้น เมื่อผู้ประกอบการใช้ผลิตเป็นวุ้นเส้นจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้วุ้นเส้นจากไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ ส่วน ผลผลิตถั่วงอก เมื่อใช้ผลิตเป็นถั่วงอกจะมีอัตราการเพาะถั่วงอกสูง จะได้น้ำหนักสดถั่วงอกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเพาะถั่วงอกมีรายได้เพิ่มขึ้น และปริมาณถั่วงอกมีเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ
“คณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้ใช้ระยะเวลาถึง 13 ปีในการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวจนได้พันธุ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป เป็นถั่วเขียวพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสำหรับปลูกในสภาพการผลิตพืชไร่ทั่วไป สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
……………………………………….
พนารัตน์ เสรีทวีกุล : ข่าว
กรมวิชาการเกษตร /วันที่ 1 ตุลาคม 2562