วันที่ 30 ก.ย. 2562 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานมอบโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตรแก่ภาคีเครือข่ายโครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ระยะที่ 3 เพื่อเป็นเกียรติและกำลังใจให้แก่คณะทำงานจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการคัดแยกขยะและนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยตลอดปีที่ผ่านมา สามารถส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มในประเทศไทยได้กว่า 900 ตัน นำมาผลิตเป็นกระดาษสำหรับเขียนอักษรเบรลล์ ได้จำนวนกว่า 2,000 รีม มอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอด 13 แห่งทั่วประเทศ
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการ “กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” เป็นโครงการในความสนับสนุนของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารเหลวในระบบยูเอชที 2 ราย ได้แก่ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อก จำกัด ร่วมกับ ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม ไฟเบอร์พัฒน์ และบริษัท กล่องวิเศษ จำกัด โดยมีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมสนับสนุน ผลักดันให้เกิดกระบวนการคัดแยกกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีและนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก่อให้เกิดจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 จนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินโครงการระยะที่ 3 ต่อเนื่องระยะที่ 4 มีภาคีเครือข่ายดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมาย รวม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี ราชบุรี กาญจนบุรี นนทบุรี ระยอง เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำกระดาษที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีจากเครือข่ายของโครงการฯ มาผลิตเป็นกระดาษสำหรับเขียนอักษรเบรลล์ ให้แก่นักเรียนผู้มีความบกพร่องทางสายตา โรงเรียนสอนคนตาบอด 13 แห่งทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการนับตั้งแต่ ปี 2559 เป็นต้นมา “ยูเอชที รีไซเคิลได้” ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่าย หน่วยงานท้องถิ่น เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้สามารถรวบรวมกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีจากภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ จำนวนกว่า 1,700 ตัน (1,770,000 กิโลกรัม) หรือประมาณ177 ล้านกล่อง ทั้งนี้ เฉพาะการดำเนินงานในระยะที่ 3 หรือ 1 ปีที่ผ่านมา (ส.ค. 2561 – ก.ค. 2562) สามารถจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ 975 ตัน เพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการ ระยะ ที่ 2 (พ.ค. 2560 – เม.ย. 2561) ที่สามารถจัดเก็บเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้กว่า 700 ตัน สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการมีส่วนร่วมดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เป็นอย่าง