กรมส่งเสริมสหกรณ์จับมือ ธกส. แก้ไขหนี้สมาชิกสหกรณ์ ขยายเวลาชำระหนี้ให้สหกรณ์ไม่เกิน 20 ปี เพื่อให้มีสภาพคล่องพัฒนาอาชีพให้สมาชิก

สหกรณ์การเกษตรเฮ หลังบอร์ด ธกส. ร่วมมือกรมส่งเสริมสหกรณ์แก้ไขปัญหาหนี้สถาบันเกษตรกร โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตร ทั้งยืดและขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้ไม่เกิน 20 ปี ส่งผลให้สหกรณ์เกิดสภาพคล่อง  มีเงินเหลือพอสำหรับหมุนเวียนในธุรกิจ และจัดสรรกำไรไว้ดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิก เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ให้สมาชิกผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด เพื่อให้มีรายได้เพียงพอใช้จ่ายและมีเงินส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัด ส่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ลงพื้นที่เพื่อติดตามปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระในสหกรณ์ พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่มีความเสี่ยงทางการเงิน ไว้สำหรับการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) ซึ่งขณะนี้บอร์ดธกส. ได้มีมติเมื่อ  25 กันยายน 2562  ที่ผ่านมา ว่าจะให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์การเกษตรที่มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยบอร์ดธกส.จะมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดและระดับสาขา เพื่อร่วมประชุมหารือกับสหกรณ์จังหวัด และลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาหนี้ ในสหกรณ์ พร้อมทั้งพิจารณาให้ความช่วยเหลือบรรเทาหนี้เป็นรายสหกรณ์แล้วแต่กรณี ๆ ไป โดยมีกรอบการดำเนินการให้ยืดและขยายการชำระหนี้สหกรณ์ที่มีกับธกส.ออกไปไม่เกิน  20 ปี

“ดังนั้นเมื่อ ธกส. มีมติเรื่องนี้ออกมาก็ถือว่าเป็นผลดีกับสหกรณ์การเกษตรที่มีปัญหาสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดหนี้ค้างชำระ หลังจากนี้กรมฯจะร่วมมือทำงานกับ ธกส.ในภาพใหญ่  และในระดับจังหวัดก็จะต้องทำงานร่วมกัน ในการเข้าไปติดตามดูแลเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ของสหกรณ์ ซึ่งจากมาตรการนี้เป็นอานิสงส์ต่อสหกรณ์ ที่จะทำให้สหกรณ์มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น มีเงินเหลือพอสำหรับหมุนเวียนทำธุรกิจและสามารถกลับไปดูแลช่วยเหลือสมาชิก โดยจะเน้นให้สหกรณ์เพิ่มบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพของสมาชิก เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอใช้จ่ายและส่งชำระหนี้คืนให้กับสหกรณ์” นายพิเชษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะหารือร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการปรับปรุงกฎระเบียบทางระบบบัญชีเรื่องการสำรองหนี้ และระเบียบของสหกรณ์ที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิก ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดจะต้องลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสหกรณ์ที่มีปัญหาการเป็นหนี้ค้างชำระกับสหกรณ์ เพื่อนำข้อมูลมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อวางแผนการดำเนินงานของสหกรณ์ในปีงบประมาณใหม่ ซึ่งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา กรมฯได้จัดประชุมรับฟังความเห็นเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ของสมาชิกจากตัวแทนสหกรณ์การเกษตรแต่ละภาค พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจทุกจังหวัด เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานภาพทางการเงินและปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ ซึ่งตัวแทนของสหกรณ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หากรัฐบาลมีมาตรการช่วยชะลอการชำระหนี้ที่สหกรณ์มีกับธกส.ออกไป สหกรณ์เหล่านั้นก็จะสามารถกลับไปดูแลคุณภาพชีวิตของสมาชิกให้ดีขึ้นได้ โดยการช่วยพัฒนาอาชีพให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯพร้อมที่จะสนับสนุนสหกรณ์ โดยได้ย้ำว่าการส่งเสริมอาชีพให้สมาชิก จะต้องมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และใช้หลักการตลาดนำการผลิต  โดยสหกรณ์ต้องเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการผลิต การแปรรูปและการตลาดสินค้าของสมาชิกให้มากขึ้น

……………………………..