พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนบนเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนตอนล่างเหลือเพียงบางส่วน จึงทยอยส่งน้ำเข้าพื้นที่รับน้ำและแก้มลิงต่างๆ ทางตอนบน ตั้งแต่กลางเดือน กันยายน 62 ที่ผ่านมา ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อใช้ในกิจกรรมการเกษตร และการประมง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดยอดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างและเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่ โดยได้ดำเนินการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนจะถึงฤดูน้ำหลาก เดือนกันยายน – ตุลาคม โดยส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ก่อนนำน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้ง 13 ทุ่ง ตามแผนที่วางไว้ โดยควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้สำหรับเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 0.382 ล้านไร่ เริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นมา ปัจจุบันเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้ว(100%) และได้ผันน้ำเข้าทุ่งแล้วประมาณ 230 ล้าน ลบ.ม. เป็นพื้นที่ประมาณ 70,000 ไร่ ยังสามารถรองรับน้ำหลากได้อีก 320 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง(ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา) ทั้งหมด 12 ทุ่ง คือ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งพระยาบรรลือ และทุ่งรังสิตใต้ รวมจำนวน 1.15 ล้านไร่ เริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วคิดเป็นร้อยละ 96 ของพื้นที่เป้าหมาย (คงแหลือพื้นที่เก็บเกี่ยวเล็กน้อย บริเวณทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ และทุ่งรังสิตใต้) คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2562 นี้ หลังจากนั้นจะทยอยนำน้ำเข้าทุ่งปริมาณร้อยละ 25 ของความจุพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้รวมกัน ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
การดำเนินการส่งน้ำเข้าทุ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่ ที่ได้มีการทำประชาคมและมีมติร่วมกัน ให้นำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิงได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และการประมง นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณแม่น้ำน้อยและคลองโผงเผง อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากตอนบนและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ในอนาคตด้วย
………………………………………………………..
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน
27 กันยายน 2562