ในโอกาสครบ 9 ปี โฉนดชุมชนบ้านคลองโยง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่บริเวณทุ่งนครชัยศรี จ.นครปฐม อันเป็นแหล่งกำเนิดของข้าวหอมปิ่นแก้วที่เคยคว้ารางวัลโลกมาแล้วนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม พร้อมด้วยทีมงานและนักศึกษาจิตอาสา พร้อมชาวชุมชนบ้านคลองโยง ต้อนรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน เพื่อระดมข้อคิดเห็นและผนึกความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการบริหารจัดการโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่รวม 1,800 ไร่ ให้ก้าวหน้ายั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแหล่งรวมพหุศาสตร์ทางวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมและโลกรอบข้างให้ดีขึ้น ไม่เพียงสร้างศักยภาพแก่คนรุ่นใหม่ด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แต่เรายังทุ่มเททำงานร่วมกับประชาชนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันช่วยเหลือสังคมชุมชนผ่านงานวิศวะมหิดลเพื่อสังคม (ESR) โดยจิตอาสาทั้งอาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกระดับอาชีพและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนอย่างยั่งยืน ในงานนี้วิศวะมหิดลได้จัดแสดงสาธิตนวัตกรรมทางวิศวกรรมที่ใช้ง่าย ที่สำนักงานสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด จ.นครปฐม ได้แก่ “กระชังปลาอัจฉริยะ (Smart Fish Cage)” อุปกรณ์ระบบตรวจวัดสภาพน้ำและส่งสัญญาณเตือนสำหรับประมงน้ำจืดเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา และ “หุ่นยนต์ AIMRobot” หุ่นยนต์สำหรับฝึกทักษะด้านภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆในชุมชน
ในการเสริมสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิศวะมหิดลได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชนบ้านคลองโยงมาตั้งแต่ปี 2559 ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและ STEM หรือพื้นที่การเรียนรู้ที่โรงเรียนบ้านคลองสว่างอารมณ์ เด็กๆ และผู้ใหญ่ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเพิ่มรายได้ สร้างอาชีพให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไปได้ อาทิ โรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ บ่อเลี้ยงกบอัจฉริยะ และแปลงเกษตรไร้สาร ซึ่งได้ผลตอบลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
รวมถึง ผศ.ดร.ณัฐวรรณ์ ยศวัฒน รองคณบดีงานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิรากแก้วในเครือข่ายมูลนิธิปิดทองหลังพระ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิถีชุมชนที่บ้านคลองโยง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและผลิตข้าวหอมพันธุ์ดี คือ ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ปิ่นแก้ว หรือ ข้าวสามกษัตริย์ ที่มีชื่อเสียงของไทยมาแต่โบราณ โดยเคยคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวโลกที่เมืองเรจิน่า ประเทศแคนาดาในปี 2476 สมัยรัชกาลที่ 7 แต่ต่อมาได้สูญหายไปจากพื้นที่ และเราได้ทราบเจตนารมย์ของชาวชุมชนคลองโยงที่ต้องการให้ ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วของไทยได้กลับคืนถิ่นอีกครั้ง ทางคณะวิศวะมหิดลจึงได้ประสานไปยังกรมการข้าว ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จนกระทั่งได้รับการอนุมัติเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 300 เมล็ด (10 กรัม) นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้ชาวบ้านเริ่มปลูกเพื่อเก็บไว้ทานในครอบครัว และขยับขยายพื้นที่เพื่อปลูกจำหน่าย โดยมีสหกรณ์หมู่บ้านคลองโยง จำกัด เป็นผู้ดูแลเรื่องการตลาด และมุ่งผลักดันให้พื้นที่ ต.คลองโยง เป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน” เป็นแหล่งเกษตรอินทรีย์ ผลิตข้าวปิ่นแก้วแห่งเดียวของประเทศไทย และมุ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
หนึ่งในทีมนักศึกษาจิตอาสา ธัญรัศม์ ทองธาราทรัพย์ วัย 20 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปีที่แล้วเคยไปร่วมงานจิตอาสาทาสีและปรับปรุงห้องสมุด รร.บ้านดอนดึง ดีใจอีกครั้งที่ปีนี้ได้มีโอกาสนำความรู้ทางวิศวกรรมมาสาธิตและพบปะเกษตรกรชาวคลองโยง ได้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของชุมชนที่มีประวัติเป็นแหล่งเกษตรพันธุ์ข้าวชั้นเยี่ยม รู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่นของคนคลองโยง ที่จะทำนาเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ 1,800 ไร่ ร่วมกัน แม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคแต่ยังเปี่ยมด้วยความหวังเสมอ ผนึกแน่นในความร่วมมือจากหลายฝ่าย คิดว่าช่วงแรกเราควรให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ต้องผสมผสานคนรุ่นเก่า คนรุ่นกลางและคนรุ่นใหม่ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และนวัตกรรมโดยนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทพื้นที่
จิตอาสาเสริมพลังด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนไทยให้ก้าวไกลยั่งยืน