สืบเนื่องจากข้อร้องเรียนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 กรมประมงจึงได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งอธิบดี
กรมประมงได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการผลผลิตปลากะพงเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาไว้ ซึ่งเป็นมติของที่ประชุม ดังนี้
- ด้านการส่งออก ขยายการส่งออกไปต่างประเทศ โดย อาจมีการทำเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป
- ด้านการนำเข้า หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ถึงความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการ Antidumping
- ด้านสุขอนามัย สุ่มตรวจสารตกค้าง (Chloramphenicol, malachite green,Nitrofuran และ Mebendazole ) ในปลากะพงขาวที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สุ่มตรวจโรค SDDV, RSIV, VNN ในปลากะพงขาวที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ตรวจในทุก shipment
- มาตรการควบคุมการลักลอบการนำเข้า ควบคุมการลักลอบการนำเข้าบริเวณท่าเรือชายแดน โดยให้ด่านตรวจสัตว์น้ำเข้มงวดการตรวจเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ท่าเทียบเรือ แพปลาที่มีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย
- ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายปลากะพงขาว โดยการทำ MOU กับ modern trade เช่น Big C, Makro, TOP Supermarket เป็นต้น
เพื่อการปฏิบัติเป็นไปตามมติที่ประชุมการบริหารจัดการผลผลิตปลากะพงเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาข้อที่ 4 ด้านมาตรการควบคุมการลักลอบการนำเข้านั้น อธิบดีกรมประมง จึงมอบหมายให้
ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาด้านการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม นำชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อตรวจสอบและติดตามการนำเข้าปลากะพงที่อาจนำเข้าในลักษณะที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
โดยเมื่อเร็วๆนี้ ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาด้านการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายฯ นำทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ ณ ท่าเทียบเรือประมงในจังหวัดสตูล ตรวจพบการขนถ่ายสัตว์น้ำจำนวน 5 ตัน
ในลักษณะผิดกฎหมาย โดยพบเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งมิได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ตามที่พระราชกำหนดกรมประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 ได้กำหนดไว้ตามมาตรา 85/1 ต้องได้รับโทษตามมาตรา 155 คือต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมประมงได้เข้าแจ้งความแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาด้านการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายฯ กล่าวว่า กรมประมงมีความแน่วแน่และจริงจังในการแก้ไขปัญหาสินค้าสัตว์น้ำราคาตกต่ำรวมถึงการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจโดยรวมในภาคการประมงของประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการขนส่งสัตว์น้ำ ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งโดยทางเรือ ทางบก หรือโดยวิธีอื่นใดก็ตาม และจะดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการด้านการขนส่งสัตว์น้ำทั้งการนำเข้า ส่งออก สินค้าในภาคประมง รวมถึงเรือประมงทั่วประเทศ โปรดปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้และขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง และประชาชนทั่วไป หากพบเห็นหรือทราบเบาะแสการกระทำผิด
ในลักษณะดังกล่าว ขอให้แจ้งตนโดยตรงได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-4469064 หรือสามารถแจ้งได้ที่ กรมประมง โทรศัพท์ 02-5620600 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- 3 –
การตรวจพบความผิด เรือขนถ่ายสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทย (ประเภทเรือกลเดินทะเลชายแดน) ณ ท่าเทียบเรือประมงสตูล
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง