แพทย์ผิวหนังแนะวิธีดูแล “โรคติดเชื้อที่ผิวหนังหลังภาวะน้ำท่วมขัง”

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ชี้ภาวะอุทกภัย และน้ำท่วมขังทำให้ติดเชื้อที่ผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา แนะหลีกเลี่ยงการแช่น้ำนาน ๆ และทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่และน้ำสะอาดรวมทั้งทำให้แห้งอยู่เสมอ

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า ภาวะอุทกภัยและน้ำท่วมขัง อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิดตามมาโดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากผื่นเรื้อรังจากโรคน้ำกัดเท้า ดังนั้นควรทำความสะอาดผิวหนังที่สัมผัสน้ำท่วมขังด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลังลุยย่ำน้ำ  หลีกเลี่ยงการลุยย่ำน้ำหากมีรอยถลอกหรือบาดแผล  ระวังรักษาผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถลดการเกิดโรคผิวหนังต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตามบางพื้นที่อาจมีสภาพแวดล้อมที่อยู่ในภาวะอุทกภัยจึงหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ยาก  การมีความรู้เกี่ยวกับโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยจากน้ำท่วมและการดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ ได้

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดเชื้อที่ผิวหนังจากภาวะน้ำท่วมขัง เช่น   การติดเชื้อแบคทีเรีย  พบว่าน้ำกัดเท้าทำให้ผิวเปื่อยลอกจะเป็นจุดที่เชื้อแบคทีเรียในน้ำสกปรกเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย  หากติดเชื้อในผิวหนังชั้นตื้นจะทำให้ฝ่าเท้ามีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นหลุมเล็ก ๆ  มีกลิ่นเหม็น อาจเกิดเป็นตุ่มหนอง  รูขุมขนอักเสบ  แต่หากการติดเชื้อลุกลามไปยังผิวหนังชั้นลึกจะทำให้ผิวหนังบวมแดงร้อน  กดเจ็บ และลามเร็วไปยังบริเวณใกล้เคียง  อาจมีไข้สูงและต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง  เช่น  เบาหวาน  ตับแข็ง  โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น  การติดเชื้อมักรุนแรง  ลามเร็ว  อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต  ดังนั้นหากมีอาการของการติดเชื้อในผิวหนังชั้นลึกหรือเป็นผู้มีภูมิต้านทานบกพร่อง ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที  ในกรณีที่มีบาดแผลจากการถูกของมีคมใต้น้ำทิ่มตำ มีโอกาสติดเชื้อบาดทะยัก จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย  นอกจากนี้ในภาวะน้ำท่วมขังยังอาจพบว่าผิวหนังติดเชื้อรา จากกการที่น้ำกัดเท้าต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ๆ  ทำให้มีผื่นแดงแฉะ  มีขุยขาวลอกบริเวณซอกนิ้ว  ผื่นหนา  เปื่อยยุ่ย  ลอกเป็นขุย มีกลิ่นเหม็น  หรือที่เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หากปล่อยให้การติดเชื้อราที่เท้าเป็นเรื้อรังผื่นจะหนาขึ้นเรื่อย ๆ และยากต่อการรักษาให้หายขาด สำหรับการรักษาต้องทายาฆ่าเชื้อราอย่างสม่ำเสมอ ทายาต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หลีกเลี่ยงยาทาฆ่าเชื้อโรคอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง เพราะจะทำให้ผิวแห้งคันมากขึ้น ที่สำคัญควรรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอจะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้

****************************************************************

#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #โรคติดเชื้อผิวหนังหลังน้ำท่วมขัง