กรมวิชาการเกษตร ปลื้ม อุบลโมเดล เข้าตาคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ชี้โมเดลโดดเด่นด้านความร่วมมือได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกภาคส่วน สร้างเกษตรกรต้นแบบผลิตมันสำปะหลังคุณภาพ 4 อำเภอจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมขยายผลต่อยอดพุ่งอีก 15 อำเภอ ชูเป็นโมเดลความร่วมมือภายใต้แนวคิดลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยันเป็นโมเดลต้นแบบใช้ได้ผลกับทุกพืช
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มันสำปะหลังถือเป็นพืชพลังงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นพืชทดแทนพลังงานที่โดดเด่นโดยนำหัวสดไปผลิตเอทานอล จึงทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบหัวสดเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านตันต่อปีในการผลิตเอทานอล ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการมันสำปะหลังที่มีคุณภาพในปริมาณสูงเพื่อนำไปผลิตแป้งและผลิตเอทานอล แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังภายในประเทศ ประกอบกับเป็นพืชที่เกิดการระบาดของโรคได้ง่ายหากทำการเพาะปลูกแบบผิดหลักวิชาการ รวมทั้งมีเกษตรกรบางส่วนยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต จึงทำให้เกิดแนวคิดการทำงานร่วมกันแบบมีส่วนร่วมระหว่างกรมวิชาการเกษตร โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี ภาคเอกชนโดยกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล และกลุ่มเกษตรกร ภายใต้โครงการที่ใช้ชื่อว่า “การเสริมสร้างความรู้พัฒนาชาวไร่แบบมีส่วนร่วมเพื่อการผลิตมันสำปะหลังยั่งยืน (อุบลโมเดล)
กรมวิชาการเกษตรได้นำองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่ การปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการผลิตมันสำปะหลัง การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ การจัดการน้ำ และการจัดการศัตรูพืช นำไปถ่ายทอดสู่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อ.นาเยีย อ.สว่างวีระวงศ์ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.วารินชำราบ ในขณะที่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิต สถานที่ฝึกอบรม และเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ฝึกอบรม กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินการตามโครงการอุบลโมเดลได้อาศัยแนวคิดการทำงานเป็นทีม และการยอมรับ ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ร่วมกันทำงานตามภารกิจของตน ผลการดำเนินงานทำให้เกษตรกรได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง และได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน เกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตมันสำปะหลัง เมื่อนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ได้ผลดีกว่าวิธีเดิมจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแปลงต้นแบบ และเกษตรกรต้นแบบ (Smart farmer) เพื่อใช้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตพืชเฉพาะพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้าน และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้
ปัจจุบันผลการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอ รอบโรงงาน สามารถพัฒนาเกษตรกรให้เป็นต้นแบบการผลิตมันสำปะหลัง และขยายผลสู่เกษตรกรเพิ่มขึ้นในพื้นที่อีก 15 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี รวมเกษตรกรอีกจำนวน 3,870 ราย ที่จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังแบบมีส่วนร่วม ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังมีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และภาคอุตสาหกรรม มีเกษตรกรต้นแบบ ที่สามารถเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือกันภายในกลุ่มเกษตรกร ที่สำคัญคือเกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้แนวคิด “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต”
“อุบลโมเดลเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถนำแนวคิดในการทำงานไปใช้ได้กับทุกพืช เป็นโมเดลที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันคิดและร่วมกันทำโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ ผลจากการดำเนินการนี้ทำให้กรมวิชาการเกษตรได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2562 จากสำนักงาน ก.พ.ร.สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิ-ผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลความภาคภูมิใจของกรมวิชาการเกษตรที่จะมุ่งมั่นต่อยอดให้เกิดโครงการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยมีอุบลโมเดลเป็นต้นแบบการดำเนินงานต่อไป”อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
****************************************
พนารัตน์ เสรีทวีกุล : ข่าว