กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมมือนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ยกระดับสถานประกอบกิจการให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน พร้อมชูเป็นต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมมาตรฐานแรงงานไทย
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดีตามมาตรฐานสากล โดยมีมาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001-2010) เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการ และเป็นการแสดงออกถึงการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากคู่ค้าในเวทีการค้าโลก นำไปสู่การขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดทางการค้าที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงานได้อย่างยั่งยืน เพื่อขยายการดำเนินการดังกล่าวไปสู่สถานประกอบกิจการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม กสร. ได้ร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกและห่วงโซ่การผลิตหนาแน่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีสถานประกอบกิจการและแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก
ในการดำเนินโครงการรณรงค์ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการได้ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานและเผยแพร่เชิญชวนให้จัดทำมาตรฐานแรงงานไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว มีสถานประกอบกิจการสมาชิกนิคมฯ จัดทำมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 55 แห่ง ได้รับการรับรอง 3 แห่ง ประกาศแสดงตนเอง (Self-declaration) 52 แห่ง จากสถานประกอบกิจการของทั้งสองนิคมฯ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 128 แห่ง
ทั้งนี้สถานประกอบกิจการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นไป สามารถต่อยอดโดยการขอใช้ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T-Mark) ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่รับรองคุณภาพการผลิตที่คำนึงถึงสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และตัวของผลิตภัณฑ์ จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้สถานประกอบกิจการมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคง
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2563 กสร. พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่ายจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพและยกระดับการจัดทำมาตรฐานแรงงานไทยในนิคมฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถขอการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมมาตรฐานแรงงานไทยต่อไป