กรมประมงผนึกกำลังหนุนพันธุ์สัตว์น้ำและจุลินทรีย์ปม.1 ร่วมโครงการ “จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย”

วันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 08.00 น. นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่พร้อมคณะนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดโครงการ “จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  โดยปล่อยรถคาราวานจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบพร้อมสร้างการรับรู้การเตรียมการด้านการเกษตรตามหลักวิชาการ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างรวดเร็วพร้อมกันในพื้นที่ 21 จังหวัด   

นายถาวร จิระโสภรณ์รักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุ “โพดุล” และพายุ “คาจิกิ” ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งจากการสำรวจความเสียหาย ด้านประมงล่าสุดพบว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์  ลำปาง พิษณุโลก  เพชรบูรณ์ สุโขทัย  พิจิตร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร  ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี  อุบลราชธานี  ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สกลนคร นครนายก ตราด และจังหวัดกระบี่พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยประมาณ 29,180.37 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายจำนวน 28,824 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 427.88 ล้านบาท  (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ย. 62)  ซึ่งระหว่างการเกิดอุทกภัยทางกรมประมงได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและความต้องการรวมถึงให้การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่จังหวัดประสบอุทกภัย ทั้งการออกเตรียมความพร้อมให้คำแนะนำเกษตรกรในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการออกประกาศเตือนผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้ การขนย้ายสิ่งของ คนชรา ผู้ป่วย สัตว์เลี้ยง ตลอดจนรับส่งประชาชน ฯลฯ

กิจกรรมโครงการ “จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรผู้ประสบภัย”  มีวัตถุประสงค์ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ในพื้นที่จำนวน 21 จังหวัด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและสร้างการรับรู้การเตรียมการด้านการเกษตรตามหลักวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของกรมประมงได้ร่วมสนับสนุนลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ อาทิ ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลากระแห ปลานวลจันทร์เทศ ปลาสร้อยขาว ฯลฯ  จำนวน 3,256,060 ตัว เพื่อนำไปต่อยอดเป็นแหล่งอาหารตลอดจนสร้างอาชีพเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัย และจุลินทร์ทรีย์ปม.1จำนวน 8,750 ซอง สำหรับนำไปปรับคุณภาพน้ำให้เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในพิธีเปิดครั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการปล่อยคาราวานรถยนต์ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทางกรมประมงได้นำพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 100,000 ตัว พร้อมด้วยจุลินทรีย์ปม.1 ไปมอบให้กับตัวแทนชุมชนในพื้นที่ตำบลหนองกินเพล อำภอวารินชำราบ เพื่อให้ผู้นำไปส่งมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบต่อไปและสำหรับในด้านการสำรวจความเสียหายด้านประมง ทางกรมประมงได้มีนโยบายกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหายให้ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อรวบรวมส่งต่อให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เร็วที่สุด

สุดท้ายนี้ ฝากถึงพี่น้องเกษตรกรและประชาชนหากต้องการความช่วยเหลือหรือขอคำแนะนำด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/สำนักงานประมงจังหวัด/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษกลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0 2558 0218 และ 0 2561 4740 ๏

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

24 กันยายน 2562