กรมควบคุมโรค แนะ 4 วิธีรับมือโรคมือ เท้า ปากในเด็ก หลังกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยกว่าร้อยละ 85 แนะคัดกรองเด็กทุกเช้า สอนให้เด็กล้างมือเป็นประจำ

กรมควบคุมโรค แนะ 4 วิธีรับมือโรคมือ เท้า ปากในเด็ก หลังกลุ่มอายุต่ำกว่า 5ปีป่วยกว่าร้อยละ 85.8 พบมากในช่วงหน้าฝนนี้ หากพบเด็กมีอาการไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสหรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้นคล้ายโรคมือ เท้า ปาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และแยกเด็กออกมา พักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ แนะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนคัดกรองเด็กทุกเช้า สอนให้เด็กล้างมือเป็นประจำ

วันที่ 12 มิถุนายน 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมือ เท้า ปากเริ่มพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ มีความเสี่ยงที่จะพบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก (แรกเกิด- 4 ปี) และกลุ่มเด็กวัยเรียน (5-9 ปี) เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ซึ่งง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านสิ่งของใช้และของเล่น เป็นต้นสถานการณ์โรคมือ เท้า ปากของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 13,554 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 85.8) เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างรวดเร็ว

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้ 1.การลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรคมือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้กระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น 4.หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหายดี ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนควรคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ สำหรับผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการควรพิจารณาให้บุตรหลานหยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อ การเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

*********************************************
ข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค