นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการฝึกอาชีพตามโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต 625,120 คน นั้น ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ปฏิบัติตามนโยบายของ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้ยึดหลัก 3 ต. คือ ต้องไม่มีการทุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้กลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรมได้ต่อยอดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือมีงานทำอย่างน้อย 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้สพร.และสนพ. ทั่วประเทศ เร่งดำเนินการฝึกอบรม ให้ทันตามเป้าหมายอย่างน้อยเดือนละ 100,000 คน สิ้นสุดช่วงเดือนกันยายนนี้
นายเสริมสกุล พจนการรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา (สนพ.พะเยา) กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้สนพ.พะเยาได้ใช้แนวทางประชารัฐประสานจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เปิดตัวโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รุ่นที่ 1 สาขาการทำขนมไทย (ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง) ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่ตำบลจำป่าหวาย จำนวน 20 คน โดยฝึกอบรมที่ศาลาอเนกประสงค์ บ้านจำป่าหวาย ต.จำป่าหวาย อ.เมืองพะเยา ซึ่งการทำขนมไทยเป็นหลักสูตรยอดนิยมที่มีผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐเลือกที่จะอบรมมากที่สุดหลักสูตรหนึ่ง ทางสนพ.พะเยา มุ่งเน้นสอนการทำขนมไทยพื้นบ้าน เพื่อการจำหน่ายหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เมนูสำคัญ อาทิ ขนมบัวลอยสามสีมะพร้าวอ่อน ขนมถั่วแปบ ขนมชั้น ขนมต้ม ขนมหม้อแกง และกาละแม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นขนมไทยยอดฮิตที่คนไทยชอบรับประทานหลังอาหารหลัก หรือรับประทานเป็นของว่าง โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับเคล็ดลับเฉพาะจากวิทยากรในการทำขนมไทยให้รสชาติดีขึ้น ตรงใจกับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มทำขนมไทยบ้านจำป่าหวาย รวมทั้งให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน และความคุ้มครองทางประกันสังคม อันจะส่งผลให้มีรายได้เสริมจากการจำหน่ายขนมไทย การจัดชุดอาหารว่างในงานสัมมนาและพิธีการต่างๆ
“ทั้งนี้ สนพ.พะเยา มีผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเสริมหรืออิสระ จำนวน 4,749 คน และฝึกอาชีพช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) อีกจำนวน 251 คน รวมทั้งสิ้น 5,000 คน ได้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้วในสาขาการทำศิลปะประดิษฐ์ การถนอมอาหารและแปรรูปอาหาร การจักสาน การตัดเย็บเสื้อ เป็นต้น คาดว่าจะสามารถฝึกอบรมได้ตามเป้าหมายวางไว้ และเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด โดยปราศจากการทุจริต มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้” ผู้อำนวยการ สนพ.พะเยา กล่าว