ชป. บริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ไม่กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อน ด้านแม่น้ำเพชรฯ ยังต่ำกว่าตลิ่ง

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน หลังมีฝนตกหนักบริเวณเหนือเขื่อน ส่งผลน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นจำนวนมาก ระบายน้ำผ่านระบบชลประทานและแม่น้ำเพชรบุรี เลี่ยงผลกระทบชุมชนเมืองด้านท้ายเขื่อน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักทางตอนบนของลุ่มน้ำเพชรบุรี วัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่สถานี B.5 หัวงานเขื่อนแก่งกระจาน ได้มากถึง 232 มิลลิเมตร ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน (23 ก.ย. 62)มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 585 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลลงอ่างฯประมาณ 13.50 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละประมาณ 8.80 ล้าน ลบ.ม. หรือ 102 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยผาก และอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ มีปริมาณน้ำเก็บกักร้อยละ 56 และ 20 ของความจุอ่างฯตามลำดับ ปริมาณน้ำเก็บกักไม่มากนัก จึงระบายน้ำเพียงวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่เขื่อนเพชรประมาณ 104 ลบ./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มสูงขึ้น

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง ด้วยการผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานในเกณฑ์รวมกันประมาณ 37 ลบ.ม./วินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านด้านท้ายเขื่อนเพชรในเกณฑ์ประมาณ 88 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแต่อย่างใด เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เน้นย้ำให้ใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างเก็บน้ำ และไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ชุมชนเมืองด้านท้ายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือ โทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460

………………………………………………………………….

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

23 กันยายน 2562