กรมชลประทานชี้แจงกรณีชาวบ้านร้องขอให้ตรวจสอบฝายลำพะยัง จ.กาฬสินธุ์ ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่พังเสียหาย ชาวบ้านเกรงว่าฝายจะแตกหากมีน้ำเติมเข้ามาอีก นั้น
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านจอมทอง ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อพฤษภาคม 2562 และได้ถ่ายโอนให้กับเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่แล้ว โดยบริเวณที่กระแสน้ำกัดเซาะเป็นทางลำเลียงชั่วคราวที่ใช้สำหรับขนวัสดุในช่วงเริ่มก่อสร้างโครงการ บริเวณฝายกั้นลำน้ำลำพะยังฝั่งซ้าย ซึ่งจะต้องรื้อถอนออกหลังสร้างเสร็จ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ขอความอนุเคราะห์ไว้ใช้สัญจรไปมา โดยเมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณด้านเหนือฝายกั้นน้ำลำพะยัง จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ทำให้ปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 530 มิลลิเมตร เกิดน้ำหลากฉับพลันไหลผ่านฝายกั้นน้ำลำพะยัง สูงสุดถึง 542.93 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเกินความจุลำน้ำและล้นตลิ่งข้ามทางลำเลียงชั่วคราวจนถูกน้ำกัดเซาะเสียหายความยาวประมาณ 50 เมตร และหินเรียง Slope หน้าฝายเกิดการทรุดตัวเป็นบางจุด ส่วนดินลูกรังบริเวณคอสะพานที่เกิดการทรุดตัวนั้น สาเหตุเกิดจากมีผู้นำรถเข้ามาเกรดลูกรังบริเวณทุ่นหูฝายออกไปเป็นคันแนวทางเชื่อมเข้าที่นาในบริเวณนั้น ไม่ได้มีผลกับโครงสร้างหลักและอาคารประกอบแต่อย่างใด
สำหรับฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ และฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านพรหมสว่าง ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ก็ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำทั้ง 2 แห่ง แต่เป็นผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยในวันนี้ ( 22 กันยายน 2562 ) นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 พร้อมด้วยนายพงศักดิ์ แสบงบาล นายกเทศมนตรีตำบลเหล่าใหญ่ นายสุมิตร ปากแข็ง รองนายกเทศมนตรีตำบลเหล่าใหญ่ ตลอดจนราษฎรในพื้นที่ ร่วมตรวจสอบพื้นที่ ขอยืนยันว่าฝายดังกล่าว มีความแข็งแรง สามารถกักเก็บน้ำ และใช้งานได้ตามปกติ ส่วนผลกระทบจากมวลน้ำมีเพียงคอนกรีตเอ็นบริเวณท้ายฝายแตก และ ราวเหล็กจำนวน 1 แผง ล้มและหัก คาดว่าถูกกระแทกจากวัตถุแข็งลอยตามน้ำ ขณะนี้ได้ดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว
“สำหรับแนวทางการแก้ไข ฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านจอมทอง ซึ่งอยู่ในความดูแลของพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ และอ.นาคู ซึ่งประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่จะรายงานความเสียหายให้จังหวัดทราบเพื่อจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซม ส่วนฝายกั้นลำน้ำลำพะยังบ้านพรหมสว่าง ซึ่งยังไม่ได้ถ่ายโอน กรมชลประทานได้อนุมัติแผนงานซ่อมแซมหลังอุทกภัย ปี 2562 เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไปแล้ว” นายศักดิ์ศิริกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยืนยันว่าโครงสร้างหลักและอาคารประกอบของฝายยังมีความมั่นคง แข็งแรง พร้อมใช้งานได้ตามปกติ และไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งรับฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ อย่างเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน และจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วนต่อไป
……………………………………
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
22 กันยายน 2562