“รมว.สุดาวรรณ” นำชมนิทรรศการ – สาธิตวิถีชีวิต-ประเพณีวัฒนธรรมโดดเด่นชาวนครพนม ชูเส้นทางตามรอยศรัทธาธรรม 7 วันสักการะ 8 พระธาตุประจำวันเกิด กระตุ้นเศรษฐกิจนครพนม – สร้างรายได้สู่ชุมชน

วันที่ 29 เมษายน 2568 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการ ผลิตภัณฑ์ชุมชน จังหวัดนครพนม ซึ่งนำมาจัดแสดง ณ หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม โดยในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม จัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ร่วมกับหน่วยงานราชการ เครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดนิทรรศการ ประกอบด้วย

1.นิทรรศการพระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ ซึ่ง วธ.โดยกรมการศาสนา ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ขับเคลื่อนนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้สู่ชุมชน ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา ประจำปีงบประมาณ 2568 ผ่านกิจกรรมเส้นทางตามรอยศรัทธาธรรม สักการะพระธาตุประจำวันเกิด จังหวัดนครพนม 8 แห่ง ได้แก่ 1.พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร 2.พระธาตุเรณู วัดธาตุเรณู 3.พระธาตุศรีคุณ วัดพระธาตุศรีคุณ 4.พระธาตุมหาชัย วัดธาตุมหาชัย 5.พระธาตุมรุกขนคร วัดมรุกขนคร 6.พระธาตุประสิทธิ์ วัดธาตุประสิทธิ์ 7.พระธาตุ ท่าอุเทน วัดพระธาตุท่าอุเทน และ8.พระธาตุนคร วัดมหาธาตุ

2.นิทรรศการชุมชนยลวิถีและ “นาหว้าโมเดล” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริให้มีการฟื้นฟูการเลี้ยงหนอนไหม โดยโครงการดังกล่าวเพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถนำเส้นใยจากหนอนไหมไปผลิตผืนผ้าได้ทุกเมื่อตามต้องการโดยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเส้นใยและเป็นโครงการตามแนวพระดำริที่มีภารกิจในการฟื้นฟูภูมิปัญญาลายผ้าและความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถพึ่งพาตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ระดับอำเภอ โดยการนำอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานชุมชนยลวิถีบ้านท่าเรือ ที่มีวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นของตนเอง ใช้ภาษาอีสาน (ลาว) ในการสื่อสาร เป็น 1 ใน 9 ชนเผ่าจังหวัดนครพนม และชุมชนผลิตผ้าไหมโครงการศิลปาชีพฯ แหล่งผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ใหญ่ที่สุด เช่น พิณ แคน โหวด โปงลาง ปี่นก ปี่ภูไท การแต่งกายผู้หญิงสวมเสื้อสี่อิฐแถบแดง นุ่งผ้าถุง มีสไบเฉียงสีขาว ส่วนผู้ชายสวมเสื้อสีกรมท่าแถบแดง มีวัดเป็นศูนย์รวมใจ หล่อหลอมความคิดและจิตใจด้วยหลักคำสอนของพุทธศาสนา ในชุมชนมีความเอื้ออาทรและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน

และ 3.นิทรรศการไหลเรือไฟโบราณสู่ประเพณีไหลเรือไฟโลก ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวนครพนม ภาคภูมิใจเพราะบรรพบุรุษยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทการสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณีและการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคาการขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์และการบูชาพระพุทธเจ้า ประเพณีการไหลเรือไฟนิยมปฏิบัติกันในเทศกาล ออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

นอกจากนี้ ภายในการจัดนิทรรศการ มีการสาธิตทำขันหมากเบ็ง หรือการทำพานบายศรีหรือพาขวัญ ซึ่งชาวอีสานยึดถือเป็นประเพณีและปฏิบัติสืบเนื่องจนเป็นเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งของชาวอีสาน การสาธิตงานผ้า งานจักสาน เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน การแต่งกายชนเผ่าชาติพันธ์นครพนม ภูไท ไทลาว ไทกวน ไทโส้ รวมถึงการสาธิตห่อกาละแมโบราณ นครพนม ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นที่ทำสืบทอดต่อกันมากว่า 100 ปีใช้วัตถุดิบแป้งข้าวเหนียวเคี่ยวผสมกับน้ำตาล ผงถ่านกะลาและกะทิสดมีสีดำเหนียวนุ่ม รสชาติหอมหวานเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของกะละแมโบราณนครพนม ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ของกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงสาธิตการทำเรือไฟกาบกล้วย มรดกภูมิปัญญาสืบทอดกันมาแต่โบราณทำในช่วงเทศกาลไหลเรือไฟเพื่อบูชาอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้นำเคราะห์ร้ายหรือทุกข์โศกโรคภัยให้ลอยไปกับแม่น้ำโขง

ในโอกาสนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการและได้มอบหมายให้นายเด่นชัย ไตรยะถา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม/ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม เจ้าที่หน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย