สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asia Nations: ASEAN) จับมือทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกรอบ 5 ปี ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การใช้ประโยชน์ และความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ทุกมิติระหว่าง 2 หน่วยงาน ASEAN คาดความร่วมมือนี้ช่วยหนุนภารกิจปัจจุบัน และปูทางสู่โครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 นาย Dato Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน และ นาย Cornel Feruta รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ IAEA ร่วมกันลงนามข้อตกลงด้านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การใช้ประโยชน์ ความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์” ณ สำนักงานใหญ่ IAEA กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างการประชุมใหญ่สมัยสามัญของ IAEA ครั้งที่ 63 โดยข้อตกลงนี้กำหนดขึ้นเพื่อวางกรอบความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาโครงการ การวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ กรณีศึกษา รวมทั้ง ความร่วมมือด้านการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ โดยมีนางฐิติพร จิระสวัสดิ์ อัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา เป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ประจำปี 2562 พร้อมด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และผู้แทนจาก ASEAN Vienna Committee ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้ นาย Dato Lim Jock Hoi เปิดเผยว่า การลงนามในข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่าง อาเซียน และ IAEA โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การต่อยอดภารกิจการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินอยู่ในปัจจุบันและช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างโครงการใหม่ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
ในโอกาสเดียว กันนี้ นาย Feruta ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงนี้นอกจากจะช่วยขยายความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรอย่างเห็นได้ชัด ยังมุ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติในภูมิภาค รวมถึงมีการกำหนดรายละเอียด การดำเนินงานให้ครอบคลุมหน่วยงานด้านนโยบายและการกำกับดูแลทางนิวเคลียร์ พร้อมดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคที่มีภารกิจด้านการพัฒนานิวเคลียร์ในอาเซียนเข้าร่วมการดำเนินงานด้วย
และในวันที่ 20 กันยายน 2562 ผู้แทนอาเซียน และ IAEA จะได้ร่วมประชุมเพื่อหารือและกำหนด การดำเนินกิจกรรมในอนาคตภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ทั้งนี้ IAEA จะร่วมทำงานกับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันโครงการความร่วมมือทางเทคนิคด้านการเตรียมความพร้อมและตอบโต้เหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งจะช่วยให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประเทศไทย โดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะประธานเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy : ASEANTOM) ในปี พ.ศ. 2562 เชื่อว่าข้อตกลงนี้จะช่วยเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของไทยและอาเซียน โดยจะร่วมผลักดันและให้การสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ภายใต้ข้อตกลงนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่ความปลอดภัยและประโยชน์ร่วมกันของประชาชนในชาติและภูมิภาคอย่างยั่งยืน
โดย กลุ่มส่งเสริมฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์