วันที่ 28 เมษายน 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครพนมในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม ระหว่างวันที่ 28 – 29 เมษายน 2568 โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร ผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม, สกลนคร, มุกดาหาร เครือข่ายวัฒนธรรม ผู้บริหารส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารจังหวัดนครพนม
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ถวายเครื่องสักการะพระธาตุพนมและแห่ผ้าห่มพระธาตุ รอบองค์พระธาตุพนม โดยมีพระอาจารย์ศรีพนมวรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม นำสักการะ จากนั้น ถวายเครื่องสักการะแด่พระศรีวิสุทธิเมธี รองเจ้าคณะจังทวัดนครพนม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ณ ศาลาตรีมุข จากนั้นพบปะผู้แทนส่วนราชการของจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชน และเยี่ยมชมนิทรรศการตำนานอุรังคธาตุ นิทรรศการประเพณีบุญเดือน 3 นิทรรศการผ้าเกาะโส้ เยี่ยมชมนิทรรศการเส้นทางท่องเที่ยวสักการะพระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ ชมและชิมอาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ สาธิตทำขนมแหนม ทำกะละแมนครพนม การทำเครื่องดื่มสมุนไพร สาธิตทำผลิตภัณฑ์จากเครื่องสักการะ พระธาตุพนม (ดอกดาวเรือง) การทำผลิตภัณฑ์จักสาน และการทำผลิตภัณฑ์ผ้ามงคล ผ้าทอลวดลายจากผ้าห่อคัมภีร์โบราณ การมัดย้อมสีธรรมชาติจากไม้มงคล 9 ชนิด และผลิตภัณฑ์จากผ้าห่มพระธาตุพนม เป็นต้น
รมว.วธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อตรวจเยี่ยมแนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม “วัดพระธาตุพนม” ซึ่งมีองค์พระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานที่สำคัญกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 พระธาตุพนม ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงตามความเชื่อพื้นถิ่นเชื่อว่าสร้างโดยพระมหากัสสปะพระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังจากปรินิพพาน เป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับการบูรณะและสักการบูชาจากประชาชนหลากหลายเชื้อชาติตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีจึงถือเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่นและเป็นสากล
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการอนุรักษ์โบราณสถาน พร้อมทั้งเป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมพระธาตุพนมได้การรับบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ศูนย์มรดกโลก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งการนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะต้องจัดทำผังแม่บทที่ครอบคลุมพื้นที่หลักของวัดพระธาตุพนมและพื้นที่กันชน (Buffer Zone) โดยรอบเพื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การยูเนสโก
ดังนั้นการลงพื้นที่ “วัดพระธาตุพนม” ได้หารือผู้เกี่ยวข้องในการสนับสนุนโครงการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังแม่บทพื้นที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารและบริเวณโดยรอบเพื่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม และโครงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเสนอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก รวมถึงการขอความอนุเคราะห์กรมศิลปากรแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะทำงานให้คำปรึกษาในการดำเนินการขับเคลื่อนพระธาตุพนมให้ได้รับการพิจารณาเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
สำหรับ “พระธาตุพนม” มีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกใน 3 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอนุสรณ์สถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เกณฑ์ 3 เป็นหลักฐานที่เป็นเอกลักษณ์หรืออย่างน้อยก็โดดเด่นถึงประเพณีทางวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ยังคงอยู่หรือที่สูญหายไป และเกณฑ์ที่ 6 มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ หรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์