หอศิลป์ทิพย์พิมาน ร่วมอนุรักษ์สืบสานงานศิลป์ ตามรอยพระปณิธานแห่ง “องค์สิริศิลปิน” จัดโครงการ ทิพย์พิมานสร้างศิลป์ ครั้งที่ 1/2568 (workshop: เครื่องแขวนลายทอง)

“ลายไทย” ถือเป็นมรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่วิจิตรงดงามและสืบเนื่องมาแต่ครั้งโบราณกาลของไทย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญควบคู่ไปกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ ด้วยทรงใช้เวลาว่างจากพระกรณียกิจ ด้วยการวาดภาพและระหว่างนั้นก็ยังทรงได้ฝึกฝนการเขียนลายไทย และในบางครั้งได้ปรับประยุกต์ใช้ลายไทย สอดแทรกในงานออกแบบรูปทรงที่สอดคล้องกับธรรมชาติและพื้นที่ที่เหมาะสมในผลงานสร้างสรรค์ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกถึงคุณค่าทางด้านความงามแล้ว กระบวนการในการสร้างสรรค์ยังเป็นเครื่องมืออันดีต่อการฝึกสมาธิ น้อมนำจิตใจให้เกิดความละเอียดอ่อน และทรงเห็นว่าลายไทยที่งดงามและอ่อนช้อยนั้นต้องใช้ทักษะการฝึกฝนและความเพียร ใช้สมาธิ ฝึกการสังเกต มีความอดทนอดกลั้น แต่เมื่อทรงเริ่มลงมือปฏิบัติ เหตุปัจจัยแก่การเข้าถึงความสงบของจิตก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย ด้วยสิ่งนี้ จึงทรงเห็นว่าการศึกษาลายไทยเป็นประโยชน์ต่อจิตใจสร้างพลังใจ ด้วยภาวะดังกล่าวมีความคล้ายสภาวะขณะปฏิบัติธรรม ถือเป็นการนำเอาธรรมะเข้ามาใช้ในการทำงานศิลปะและชีวิตประจำวัน จากการที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีความสนพระทัยเกี่ยวกับลายไทยจึงเป็นที่มาของการจัดโครงการ “ทิพย์พิมานสร้างศิลป์” ครั้งที่ 1/2568 (workshop: เครื่องแขวนลายทอง) เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านศิลปะไทย ซึ่งการเขียนลายไทย ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาจิตใจให้เกิดสติปัญญา ทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้ชมก็ล้วนได้ประโยชน์ ดังพระดำรัสที่ว่า “ศิลปะเป็นเครื่องกล่อมเกลาชีวิตของคน”

การศึกษาลายไทยนั้นแฝงด้วยสภาวะธรรมอันนำไปสู่เนื้อหาหรือปรัชญาความหมายที่ลึกซึ้ง ซึ่งไม่เพียงแฝงอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน แต่รวมไปถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี การดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยความรัก ความศรัทธา เกิดเป็นความองค์ความรู้และภูมิปัญญาของแผ่นดินไทย

โครงการ ทิพย์พิมานสร้างศิลป์ ครั้งที่ 1/2568 (workshop: เครื่องแขวนลายทอง) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 และ 27 เมษายน 2568 เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน บุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมถึงผู้สนใจทั่วไปสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ณ หอศิลป์ทิพย์พิมาน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ผู้อำนวยการหอศิลป์ทิพย์พิมาน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์วิรัญญา จิราธิกิตติ์ รองผู้อำนวยการหอศิลป์ทิพย์พิมาน และอาจารย์ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาหัตถศิลป์ ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ การเขียนลายไทย และการประยุกต์ใช้ลายไทยกับชีวิต พร้อมสาธิตการเขียนลายไทยและการทำเครื่องแขวนลายทอง

พร้อมกันนี้ได้สอนการประดิษฐ์ “เครื่องแขวนลายทอง” ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาเรียนรู้ศิลปะไทยด้วยการลงมือปฏิบัติสร้างสรรค์ผลงานลวดลายไทยด้วยตนเอง กับวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีความรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพ อีกทั้งเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สนใจศิลปะไทย ได้รู้และเข้าใจคุณค่าของลายไทย เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์ศิลปะไทยให้คงอยู่สืบไป