ผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์เครื่องสำอาง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบและสั่งซื้อตัวอย่างเครื่องสำอางจากร้านค้าออนไลน์ ชื่อบัญชี (1) “allbeauty88”, (2) “บิวตี้บิวตี้” เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 (3) “แม่ค้า ชื่อนัทตี้” “@nuttee113” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีได้เก็บตัวอย่างเครื่องสำอางจากบริษัท สกินเน็กซ์ จำกัด (ผู้ผลิตเครื่องสำอาง) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยได้เก็บตัวอย่างเครื่องสำอางส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสารที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางและพบเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ ซึ่งเข้าข่ายเป็นลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือขาย จึงขอประกาศผลการตรวจสอบหรือผลวิเคราะห์

เครื่องสำอางให้ประชาชนทราบ ดังนี้

ผลตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางดังกล่าว ได้แก่
1. เครื่องสำอางที่ผสมปรอทและสารประกอบของปรอท (Mercury and its compounds – Mercury) อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ

2. เครื่องสำอางที่ผสมสเตียรอยด์ คือ Betamethasone 17-valerate (Glucocorticoids) อาจทำให้ผิวบาง เกิดรอยแตก เส้นเลือดใต้ผิวหนังผิดปกติ หน้าแดงตลอดเวลา เกิดผื่นแพ้ เกิดสิวผด ผิวหนังมีสีจางลง หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดด่างขาว

3. เครื่องสำอางที่ตรวจพบจำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และรา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (Total aerobic plate count) พบ 46,000 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งมากกว่า 500 โคโลนีต่อกรัม สำหรับเครื่องสำอางที่ใช้บริเวณรอบดวงตา เครื่องสำอางที่สัมผัสเยื่อบุอ่อน และเครื่องสำอางสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่มีลักษณะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2559

ข้อแนะนำ
ขอเตือนให้ประชาชนเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง สำหรับร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ https://cosmetic.fda.moph.go.th / ประกาศผลการวิเคราะห์ / หรือ QR code ด้านล่าง

กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ