มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ผนึก กรมอนามัย ระดมไอเดียยกระดับบริการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็กตั้งแต่ครรภ์มารดา – 2 ปีแรก ดันขยายผลสู่ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี  กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียนความสำเร็จและยกระดับ Practice สู่ Best Practice” ในโครงการมหัศจรรย์ ๑,๐๐๐ วันแรกแห่งชีวิต เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ 2568 – 2569 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนรูปแบบและความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการมหัศจรรย์ ๑,๐๐๐๐ วันแรกแห่งชีวิต เพื่อยกระดับบริการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในอนาคต ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดเป็นแนวทางในการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่การเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างการขยายผลด้านการส่งเสริมสุขภาพในระดับท้องถิ่นให้เพิ่มมากขึ้นทั้ง รพ.สต. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ต่อไป

ด้านนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 2 ปีบริบูรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการ “มหัศจรรย์ ๑๐๐๐ วันแรกของชีวิต” ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลจำนวนการเกิดของประชากรไทยมีอัตราลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ “อัตราเจริญพันธุ์รวม – จำนวนลูกเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์” (TFR: Total Fertility Rate) ของไทยปี 2567 ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียง 1.0 ต่ำกว่าระดับทดแทนพ่อและแม่ที่ 2.1 ถึงกว่าเท่าตัว และต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกที่ใกล้เคียงกับประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน คาดการณ์ว่าในอีก 60 ปี ข้างหน้า จำนวนประชากรของไทยลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยพบว่าเด็กอายุ 0-14 ปี จะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านคน ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือทุนมนุษย์ (Human capital) จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต

ดังนั้น การพัฒนาเด็กไทยเพื่อให้สอดรับกับนิยามของคนไทยในศตวรรษที่ 21 ต้องเริ่มในช่วงเวลาที่เรียกว่า ๑,๐๐๐ วันแรกของชีวิต เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ และตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด (270 วัน) รวมกับช่วงเวลาตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุ 2 ปีบริบูรณ์ (730 วัน) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาทางร่างกาย สมอง จิตใจและสังคม ที่เรียกว่า ช่วงเวลาทอง (Golden period) เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีกระบวนการสร้างและเพิ่มเซลล์สมอง ควบคู่กับการสร้างเส้นใยประสาทเร็วที่สุด รวมถึงการได้รับโภชนาการที่เหมาะสมร่วมกับความรัก ความอบอุ่นจากการเลี้ยงลูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะทำให้ทารก เจริญเติบโต และพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพสูงในที่สุด

ทั้งนี้ มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี จะร่วมมือกับกรมอนามัย ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพประชากรทุกกลุ่มวัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มแม่และเด็กให้มีคุณภาพ สอดรับกับโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ตามหลักกลยุทธ์ 4 H เก่ง (Head) ดี (Heart) มีทักษะ (Hand) แข็งแรง (Health) ภายใต้การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน (Home) เพื่อให้เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เก่ง ดี มีทักษะ แข็งแรง พร้อมเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพต่อไปในอนาคต