กรุงเทพฯ,: องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA ฉลอง 40 ปี การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วม เพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม โดยพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ถือเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติในเวทีระหว่างประเทศที่สามารถแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ พร้อมเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อไป ผ่านความร่วมมือด้านต่างๆ โดยผู้แทนจากทั้งสองประเทศได้ย้ำถึงความร่วมมือต่อไปในอนาคตภายในงานเฉลิมฉลองความสำเร็จวันนี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยและมาเลเซียเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน มีการแบ่งปันความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมสังคมและประวัติศาสตร์ มานานหลายศตวรรษ ด้วยจิตวิญญาณของมิตรภาพและความร่วมมือซึ่งกันและกัน “องค์กรร่วมมาเลเซีย-ไทยถือเป็นการเริ่มต้นภารกิจอันยิ่งใหญ่ระหว่างสองประเทศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐบาลในการดูแล สำรวจและแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานของการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมบนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia – Thailand Joint Development Area : MTJDA) บนพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร รวมถึงการจัดการค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์จากกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) เป็นระยะเวลา 50 ปี ซึ่งรัฐบาลทั้งสองรับภาระและแบ่งปันโดยเท่าเทียมกันในสัดส่วน 50:50 นับได้ว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมร่วมกันและแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติบนเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งการจัดงานในวันนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซีย มาเป็นประธานร่วมในการจัดงานดังกล่าวอีกด้วย
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมการร่วมฝ่ายไทย ในองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมหาศาล เพราะเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ส่งเข้าประเทศไทยเฉลี่ย 509 ล้าน ลบ. ฟุตต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 16 ของการจัดหาก๊าซ ของประเทศ (3,252 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วนแรกถูกส่งไปยังจังหวัดสงขลาและโรงไฟฟ้าจะนะจำนวน 163 ล้าน ลบ.ฟุต เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักในการขนส่งของภาคใต้ตอนล่างและส่งก๊าซให้กับสถานีบริการ NGV 12 แห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ ถือเป็นแหล่งความมั่นคงให้กับธุรกิจและครัวเรือนของภาคใต้ ส่วนที่สอง ถูกส่งไปยังจังหวัดระยองจำนวน 346 ล้าน ลบ.ฟุต เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าของภาคกลางและภาคตะวันออก
ปัจจุบัน ระยะเวลาความร่วมมือนั้นผ่านไปแล้ว 40 ปี และกำลังจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษสุดท้ายภายใต้ข้อตกลง ในปี 2572 จากการประเมินศักยภาพปิโตรเลียม พบว่าในพื้นที่ของ MTJA จะยังคงมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่สามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ไทยและมาเลเซียได้อีกต่อไปไม่น้อยกว่า 20 ปี และ ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางอ้อมสู่ประชาชน ชุมชน ในพื้นที่ใกล้เคียงของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบและการจ้างแรงงาน กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นานาประเทศในการแก้ไขปัญหาเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนในทะเลอย่างเป็นรูปธรรม”
ด้าน ตันศรี ดร.ราฮาหมัด บีวี ยู-ซอฟ ประธานกรรมการร่วมฝ่ายมาเลเซียฯ กล่าวว่า องค์การร่วมไทย-มาเลเซีย ได้ดำเนินงานมาถึง 40 ปี ผ่านความร่วมมือที่ดีจากประเทศไทย โดยพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันการในแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่ตั้งอยู่บนไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศ
ปัจจุบันบนพื้นที่พัฒนาร่วมนี้มีแหล่งผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ จำนวน 3 แปลง ได้แก่ แปลง A-18 , แปลง B-17& C-19 และ B-17-01 ซึ่งมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งการสร้างงานให้กับผู้คนได้มากกว่า 50,000 ตำแหน่ง สนับสนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในมาเลเซียและไทยจำนวน 16 โครงการมากกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และข้อมูลในปี 2562 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาได้เฉลี่ยประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตคอนเดนเสทเฉลี่ยประมาณ 16,700 บาร์เรลต่อวัน รวมรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่นอกจากรายได้ที่เกิดขึ้นนี้ยังมี ‘ผลกำไรที่จับต้องไม่ได้’ ที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย คือการแลกเปลี่ยนความรู้การสร้างทักษะ กำลังการผลิต และการเติบโตของฐานการวิจัยที่แข็งแกร่งในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ หลังจากครบ 50 ปีของการลงนามบันทึกความเข้าใจในปี พ.ศ. 2572 ทั้งสองประเทศเชื่อมั่นว่าจะยังดำเนินการความร่วมมือต่อไปได้ ด้วยการขยายขอบเขตการทำงานที่มากขึ้น เพื่อยกระดับและสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ สร้างการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้ได้โดยตรง และยังมีแนวโน้มที่จะขยายความร่วมมือเช่นเดียวกันนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกัน”
นอกจากการพัฒนาด้านพลังงานแล้ว ระหว่างสองประเทศยังมีกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับสังคมและชุมชนในรูปแบบกองทุนที่จัดตั้งโดย MTJA ที่ทำการวิจัยเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด สร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหลังจากนี้จะเป็นการดำเนินงานในเชิงลึกมากขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตที่จะยึดมั่นในวิถีและแนวคิดเพื่อให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนเช่นกัน
#####