เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเฝ้าระวังการระบาดของไรแดง ในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูง

กรมส่งเสริมการเกษรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดของไรแดงในมันสำปะหลัง เนื่องจากมันสำปะหลังในพื้นที่ส่วนใหญ่ขณะนี้มีอายุ 1 – 3 เดือน และในช่วงนี้มีสภาพอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูง เอื้อต่อการระบาดของไรแดงในมันสำปะหลังได้ดี โดยไรศัตรูพืชเหล่านี้จะมีลักษณะปากที่แตกต่างจากไรทั่ว ๆ ไป คือ จะมีอวัยวะที่เรียกว่า chelicerae ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของปาก มีลักษณะเป็นเข็มแหลม (stylets) เพื่อใช้ทิ่มแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของพืชอาศัย เพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้เกิดแผลบนผิวของพืชบริเวณนั้น

สำหรับไรแดงที่เข้าทำลายมันสำปะหลังมีอยู่ 3 ชนิด คือ ไรแดงมันสำปะหลัง หรือไรแดงหม่อน ไรแมงมุมคันซาวา และไรแดงชมพู่ แต่สำหรับไรแดงมันสำปะหลัง หรือไรแดงหม่อนนั้นเป็นไรศัตรูที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจหลายชนิด พืชที่มักพบไรชนิดนี้เข้าทำลายเสียหายอย่างรุนแรง ได้แก่ มันสำปะหลัง และหม่อน โดยไรจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบพืชใบล่าง ๆ และเพิ่มขยายปริมาณไปยังส่วนยอด ไรสร้างเส้นใยสานไปมาอยู่เหนือผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลายอยู่ ทำให้ใบพืชแห้งซีด มีสีเหลือง หากไรระบาดรุนแรง ยอดจะม้วนงอและร่วงจากใบ ทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโต และพืชยืนต้นแห้งตายในเวลาต่อมา

รูปร่างลักษณะของไรแดงมันสำปะหลัง หรือไรแดงหม่อน เพศเมียมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่ โดยมีด้านหน้าของลำตัวกว้างกว่าทางด้านท้าย ความยาวของลำตัวโดยเฉลี่ย 503.66 ไมครอน กว้างโดยเฉลี่ย 377.33 ไมครอน ลำตัวมีสีแดงสด สองข้างลำตัวมีแถบสีแดงเข้ม และมีตาเป็นจุดสีแดงอยู่บริเวณบ่าทั้งสองข้าง ขนบนหลังเป็นเส้นยาวปลายเรียวแหลม และไม่มีสี ลำตัวด้านสันหลังตอนหน้าและขาทั้ง 4 คู่ มีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ปลายขามีสีแดงเรื่อ ๆ ส่วนเพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ตัวมีสีเหลืองอ่อนลำตัวเรียวแคบก้นแหลม และมีตาเป็นจุดสีแดงอยู่บริเวณบ่าทั้งสองข้าง การระบาดของไรแดงในแปลงปลูกมันสำปะหลัง มักเกิดในลักษณะเป็นหย่อม ๆ และจะรุนแรงมากเมื่อมันสำปะหลังมีอายุ 1 – 3 เดือน และเมื่อมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน อุณหภูมิสูง ประกอบกับมีลมพัดแรง

กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำแนะนำเพื่อป้องกันกำจัดไรแดงมันสำปะหลัง หรือไรแดงหม่อน ดังนี้ 1) สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้เก็บหรือเด็ดไปทำลายนอกแปลง เพื่อลดประชากรไรแดง 2) อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ (Stethorus sp.) ไรตัวห้ำ (Amblyseius longispinosus (Evans)) และด้วงปีกสั้น 3) หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน 4) ไรแดงจะเข้าทำลายใบเพสลาดหรือใบแก่ หากเข้าทำลายรุนแรงจะมีผลต่อการเจริญเติบโตหรือการสร้างหัว จึงควรใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้ อามีทราซ 20% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 4.2 เฮกซีไทอะซอกซ์ 1.8% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซฟลูมิโทเฟน 20% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่ง พ่นเมื่อพบไรแดงทำลายบริเวณใบเพสลาดและใบแก่ โดยเฉพาะพืชยังเล็ก พ่นให้ทั่วทั้งต้น ใต้ใบและบนใบ จำนวน 1 – 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน

ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หากพบใบมันสำปะหลังมีอาการแห้งซีด ให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน