ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปิดเล่มรายงานโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2567 ตามที่กรมป่าไม้มอบหมาย พร้อมเปิดตัวเลขผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพดาวเทียมแบบชัด ๆ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 101,785,271.58 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรูปปีที่ผ่านมาสูงถึง 101,657,709.89 ไร่ แถมหลายจังหวัดมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงประโยชน์จากโครงการฯ ที่สามารถนำข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ไปใช้ได้ทั้งในมิติของการบริหารจัดการพื้นที่ และเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์
รศ. ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมป่าไม้ ได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ส่วนสำรวจและวิเคราะห์ทรัพยากรป่าไม้ สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ ดำเนินโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2567 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการจัดทำแผนที่ป่าไม้ของประเทศในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อรองรับและสนับสนุนการวางแผนเชิงนโยบาย และการกำหนดแผนปฏิบัติงานด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยในทุกระดับ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถนำข้อมูลมาใช้สำหรับติดตาม และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการฯ เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ศูนย์วิจัยป่าไม้ ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์สถานภาพของทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 ด้วยการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียม Sentinel-2 ระบบบันทึกภาพ MSI ความละเอียดจุดภาพ 10 เมตร บันทึกภาพในช่วงปี พ.ศ. 2567 เป็นหลักในการปฏิบัติงาน และใช้ข้อมูลภาพดาวเทียม Landsat 8 ระบบบันทึกภาพ OLI ความละเอียดจุดภาพ 30 เมตร และข้อมูลภาพดาวเทียม Landsat 9 ระบบบันทึกภาพ OLI-2 ความละเอียดจุดภาพ 30 เมตร บันทึกภาพในช่วงปี พ.ศ. 2567 สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงาน” รศ. ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ กล่าว
สำหรับนิยามของพื้นที่ป่าไม้ คือ พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และหมายรวมถึง ทุ่งหญ้า และลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่า เป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัสหรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่า ผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม
รศ. ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ ได้กล่าวถึงผลการจัดทำข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2567 พบว่า ประเทศไทย มีพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งสิ้น 101,785,271.58 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.46 ของพื้นที่ประเทศ และเมื่อนำมาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ระหว่าง ปี พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567 พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ลดลง 32,884.17 ไร่ และที่สำคัญยังพบว่า มีพื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรอบปีที่ผ่านมาถึง 101,657,709.89 ไร่
ทั้งนี้ รศ. ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ ยังได้ระบุถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ ในกรณีที่พื้นที่ป่าไม้ลดลงว่า มีสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าไม้ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่า ในขณะเดียวกันเป็นที่น่ายินดีว่า ในหลายจังหวัด มีสภาพพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2566 มีพื้นที่ป่าไม้ 2,534,983.21 ไร่ ปี 2567 มีพื้นที่ป่าไม้ 2,543,349.83 ไร่ เทียบแล้วเพิ่มขึ้น 8,366.62 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.33 ขณะที่บุรีรัมย์ ในปี 2566 มีพื้นที่ป่าไม้ 549,428.92 ไร่ ปี 2567 มีพื้นที่ป่าไม้ 553,928.41 ไร่ เทียบแล้วเพิ่มขึ้น 4,499.49 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.82 ส่วนจังหวัดระยอง ในปี 2566 มีพื้นที่ป่าไม้ 181,099.19 ไร่ ปี 2567 มีพื้นที่ป่าไม้ 186,368.55 ไร่ เทียบแล้วเพิ่มขึ้น 5,269.36 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.91 เป็นต้น การที่พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น มีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ, การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า หรือการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต เป็นต้น
รศ. ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ ได้กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2567 ว่า ประกอบด้วย 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง กรมป่าไม้หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้สามารถนำขอบเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ อาทิ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาซ้อนทับกับข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2567 สำหรับใช้ในการวางแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และ สอง กรมป่าไม้ สามารถนำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2567 ซึ่งถูกจัดเก็บเป็นข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มาให้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ