“ภุชงค์” ลุยพระราม 3 รอบสอง สั่งเข้ม 5 กฎเหล็กความปลอดภัย คุมเข้มโครงการก่อสร้างใหญ่ ปกป้องชีวิตแรงงานและประชาชน

25 เมษายน 2568 – กระทรวงแรงงานเดินหน้าตรวจความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เปิดการตรวจความปลอดภัย ณ โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก สัญญาที่ 3

การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนบูรณาการตรวจความปลอดภัยในการทำงานในเขตก่อสร้างขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ และหน่วยงานภาคีร่วมลงพื้นที่จริง เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อลูกจ้างในระบบ และประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

ายภุชงค์ วรศรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ต่างจากครั้งแรก โดยเน้นการตรวจเชิงลึกในประเด็นที่มีความเสี่ยงสูงจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น เครื่องจักรหนัก โครงสร้างยกระดับ และการควบคุมพื้นที่อันตราย พร้อมชี้ว่า การเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ว่าจ้าง ผู้ควบคุมงาน วิศวกร นายจ้าง ไปจนถึงแรงงานหน้างาน โดยเฉพาะการบังคับใช้ “5 Golden Rules – กฎเหล็ก 5 ข้อเพื่อความปลอดภัย” ภายใต้แคมเปญ Safe Cons. Together 90 Days ซึ่งเน้นให้สถานประกอบการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน ลดความเสี่ยงต่อชีวิตแรงงานและประชาชนโดยรอบ ได้แก่ 1.กำหนดเขตก่อสร้างและเขตอันตรายชัดเจน2.ออกแบบโครงสร้างรับน้ำหนักตามหลักวิศวกรรม3.ตรวจสอบเครื่องจักรหนักตามมาตรฐาน4. ควบคุมดูแลโดยผู้รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด5.ลูกจ้างต้องใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน

“นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะไม่ใช่แค่คุ้มครองแรงงาน แต่ยังคุ้มครองคนเดินถนน ผู้ใช้รถ และคนในพื้นที่ด้วย นี่คือการทำงานที่ไม่รอให้เกิดเหตุ แต่ป้องกันไว้ก่อน” นายภุชงค์กล่าว

นายภุชงค์ วรศรี กล่าวต่อ ถึงความแตกต่างจากการลงพื้นที่ครั้งแรกซึ่งเน้นการวางระบบตรวจสอบในภาพรวม การตรวจครั้งที่ 2 นี้เป็นการตรวจเฉพาะจุดในบริเวณที่มีโครงสร้างซับซ้อนและมีการทำงานต่อเนื่องบนที่สูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงในกรณีฉุกเฉิน จึงเป็นการเน้นตรวจสอบการปฏิบัติงานจริงของผู้ควบคุมงานและแรงงานในไซต์ก่อสร้างอย่างละเอียด พร้อมแนะให้เร่งติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย ป้ายแจ้งเตือน และระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปในบริเวณรอบไซต์ได้รับความมั่นใจในการใช้ชีวิตใกล้พื้นที่ก่อสร้าง
การลงพื้นที่เชิงรุกของกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนของการ “ไม่ปล่อยผ่าน” ต่อความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยนายภุชงค์ได้ย้ำว่า รัฐบาลจะไม่รอให้เกิดเหตุแล้วค่อยแก้ แต่จะสร้างระบบป้องกันล่วงหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องแรงงาน และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่อยู่ร่วมกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในทุกพื้นที่