เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามในหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเรื่องการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 เห็นชอบ และมอบหมายให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ลงนามในเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวให้ศูนย์มรดกโลก แล้ว
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจาก ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการ สผ. ว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ศูนย์มรดกโลกได้ประสาน สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลาง ว่า เอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก เป็นไปตามเงื่อนไขการจัดทำเอกสารที่กำหนด และได้บรรจุแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก แล้ว นับเป็นแหล่งที่ 7 ของไทยในบัญชีดังกล่าว และ สผ. จะได้นำเรียนเรื่องดังกล่าวต่อประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เพื่อทราบต่อไป
การดำเนินงานในลำดับต่อไป ศูนย์มรดกโลก จะได้นำเสนอการบรรจุแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ต่อไป ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และราชอาณาจักรไทยจะต้องจัดเตรียมเอกสารการนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณา ภายในระยะเวลา 10 ปี หากเกินระยะเวลาดังกล่าว ศูนย์มรดกโลกเสนอแนะให้ทบทวนและจัดส่งเอกสารการนำเสนอใหม่ เนื่องจากข้อมูลในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นฯ จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับรัฐภาคีสมาชิก และองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ในการบ่งชี้ถึงรายละเอียดของแหล่งที่จะนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกต่อไป
สำหรับการนำเสนอ พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามฯ ในครั้งนี้ นำเสนอตามเกณฑ์คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล 2 ข้อ คือ เกณฑ์ข้อที่ 1 เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมประเภทเจดีย์ในพุทธศาสนาที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ด้านรูปแบบ เทคนิคการก่อสร้าง คติการสร้าง และศิลปกรรม เป็นพระปรางค์ที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามที่สุดในราชอาณาจักรไทยและเอเชีย และเกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นสถาปัตยกรรมประเภทเจดีย์ ในพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปกรรมสมัยอยุธยา และมีพัฒนาการด้านการออกแบบ แผนผัง สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม จนเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของสมัยรัตนโกสินทร์เพียงแห่งเดียว