นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมศิลปากรว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ประจำปี 2568 จำนวน 74 รายการ โดยมีเอกสารจากประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก จำนวน 3 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 เอกสารสมุดไทย นันโทปนันทสูตรคำหลวง (The Manuscript of Nanthopananthasut Kamlaung) เอกสารโบราณล้ำค่าของไทย เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อปี 2279 ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ส่วนรายการที่ 2 ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก และเอกสารจดหมายเหตุที่เกี่ยวข้อง (The King of the White Elephant and the archival documents) ภาพยนตร์เก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และเอกสารจดหมายเหตุที่เกี่ยวข้องเก็บรักษาไว้ที่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรายการที่ 3 เอกสารการก่อตั้งประชาคมอาเซียน (The Birth of the Association of Southeast Asia Nations (ASEAN) (Archives about the Formation ASEAN, 1967 – 1976)) เก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งประเทศไทยเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเอกสารมรดกความทรงจำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโกแล้ว จำนวน 570 รายการ จาก 72 ประเทศ และ 4 องค์กรระหว่างประเทศ โดยในส่วนประเทศไทยนั้น มีเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกแล้ว จำนวน 9 รายการ ได้แก่ จารึกวัดโพธิ์, ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง, เอกสารจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองของสยาม พุทธศักราช 2411 – 2453, ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับ ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ,บันทึกการประชุมของคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และคัมภีร์ใบลาน เรื่องตำนานอุรังคธาตุ โดยผู้ที่สนใจสามารถดูรายการเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทยได้ที่ https://www.nat.go.th/mow/th-th
“เอกสารที่ได้รับเป็นมรดกความทรงจำของชาติยังมีอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก การที่ยูเนสโกได้ประกาศมรดกความทรงจำแห่งโลกในครั้งนี้ ถือว่าตอกย้ำถึงความสำคัญทางวรรณกรรม พุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ที่มีคุณูปการต่อมนุษยชาติอย่างแท้จริง สมควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดให้คงอยู่สืบไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมศิลปากรได้รายงานว่าจะดำเนินการจัดทำโครงการเฉลิมฉลองในวาระการที่เอกสารมรดกของชาติได้รับการประกาศมรดกความทรงจำแห่งโลก เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบถึงความสำคัญของเอกสารดังกล่าวและเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดอีกทางด้วย” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว