“ภุชงค์” ลงตรวจด่วนพระราม 3 คุมเข้มความปลอดภัยก่อสร้าง ลดเสี่ยงพังถล่ม-คนงานเจ็บ ป้องกันเหตุซ้ำรอย

วันที่ 22 เมษายน 2568 เวลา 09.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ในฐานะ ประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบและดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน กรณีเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง เป็นประธาน เปิดการตรวจความปลอดภัยในการทำงาน ณ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก : สัญญาที่ 1 โดยมี นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายเกริกไกร นาสมยนต์ ที่ปรึกษากฎหมาย และ นายศักดิ์ศิลป์ ตุลาธร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมด้วย

นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมขอขอบคุณ ผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ได้บูรณาการแผนการตรวจความปลอดภัยในการทำงานร่วมกับคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบ และดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน กรณีเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือการประสบอันตราย จากการทำงาน กรณีร้ายแรง ในวันนี้ จากการประชุมกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนการตรวจด้านความปลอดภัยในการทำงานแบบบูรณาการ ระหว่างคณะทำงานเฉพาะกิจกระทรวงแรงงาน หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ผู้รับเหมาชั้นต้น สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับเจ้าของโครงการก่อสร้างฯ ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กระทรวงแรงงาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบและดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน กรณีเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรงร้ายแรง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน และมีผมเป็นประธานคณะทำงาน โดยคณะทำงานประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมการจัดหางาน สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ สถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยง สถานประกอบกิจการที่เกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และคุ้มครองดูแลให้การช่วยเหลือแก่ลูกจ้าง ที่ประสบเหตุ ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์

นายภุชงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจความปลอดภัยในการทำงานวันนี้ เพื่อให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้น กฎเหล็ก 5 ข้อ (5 Golden Rules) ตามแคมเปญ Safe Cons. Together 90 Days ประกอบด้วย 1. ต้องกำหนดเขตก่อสร้างและเขตอันตรายชัดเจน เพื่อป้องกันอันตราย แก่แรงงานและประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง 2. การออกแบบโครงสร้างรับน้ำหนักต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการพังถล่มจากข้อบกพร่องทางวิศวกรรม 3. เครื่องจักรหนักต้องได้รับการตรวจสอบตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างมีความปลอดภัยและพร้อมใช้งาน 4. เน้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ควบคุมงานและผู้อนุมัติ ต้องมีการตรวจสอบและกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มงวด 5. ลูกจ้างต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างครบถ้วน

“กระทรวงแรงงานมุ่งหวังให้มีการดำเนินการร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อป้องกัน มิให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานร้ายแรง อันจะนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินขึ้นอีก” นายภุชงค์ กล่าว