กฟผ. ย้ำความมั่นใจเขื่อนใหญ่ กฟผ. มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยดี ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวไว้แล้ว อีกทั้งมีการตรวจสอบตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลได้ทางแอปพลิเคชัน EGAT ONE
นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวศูนย์กลางประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนประชาชนในหลายจังหวัด รวมถึงประชาชนมีความกังวลถึงความปลอดภัยของเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่ง กฟผ. ขอให้ความมั่นใจว่าเขื่อนภายใต้การดูแลของ กฟผ. ถูกออกแบบเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวไว้แล้ว อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยผ่านเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนตามมาตรฐานสากล ซึ่งพบว่าทุกเขื่อนใหญ่ของ กฟผ. ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และสามารถทำหน้าที่เก็บกักน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรและด้านการผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เขื่อนใหญ่ของ กฟผ. ถูกออกแบบให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่อัตราเร่ง 0.1-0.2 g ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 546.36 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.00074g เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 482.82 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.00457g และเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 820 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.00473g เขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาน 809.8 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.02590g
นอกจากนี้ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ได้ดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำตามแนวทางองค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (International Commission on Large Dams : ICOLD) โดยมีข้อกำหนดในการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน 3 ระยะ ด้วยกันคือ
1. การตรวจสอบแบบประจำ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการตรวจสอบเขื่อนและอาคารประกอบด้วยสายตา และติดตามตรวจวัดข้อมูลจากเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนเป็นประจำทุกสัปดาห์
2. การตรวจสอบแบบเป็นทางการ มีคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน (กปข.) ดำเนินการตรวจสอบและประเมินความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และอาคารประกอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและปลอดภัยของเขื่อน ทุก 2 ปี
3. การตรวจสอบกรณีพิเศษ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติใด ๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของเขื่อนและอาคารประกอบ เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง มีฝนตกหนักมาก เกิดน้ำหลากทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลได้ทางแอปพลิเคชัน EGAT ONE ทางสมาร์ทโฟนทั้งระบบ IOS และ Android เพื่อรับทราบข้อมูลด้านการจัดการน้ำและข้อมูลการแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว