เพราะน้ำคือทรัพยากรทางธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลก ด้วยเหตุนี้การประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับน้ำโดยตรง จึงตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และได้ดำเนินโครงการปลูกป่าต้นน้ำพร้อมพัฒนาระบบประปาโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูผืนป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนต้นน้ำ ให้ชุมชนอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืน
โครงการดังกล่าวริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้ชื่อ “กปน. รักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9)” ณ พื้นที่ป่าต้นน้ำปิง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี (2555-2559) ซึ่งช่วยขยายพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับผืนป่าเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้ กปน. ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2560 ประเภทการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
จากนั้นในปี 2560 กปน. ได้เปลี่ยนมาดำเนินโครงการในพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน ภายใต้ชื่อ “กปน. รักษ์ป่าต้นน้ำ ตามรอยพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)” ณ พื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี (2560-2562) โดย 2 ปีที่ผ่านมา คณะจิตอาสาร่วมกันปลูกไม้ยืนต้นกว่า 33,000 ต้น ปลูกหญ้าแฝกกว่า 200,000 ต้น เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 120 ไร่ นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบประปาภายในโรงเรียนและชุมชนรวม 6 แห่ง อาทิ โรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจจิตรพงศ์ โรงเรียนบ้านยอดดอยวัฒนา ชุมชนบ้านทุ่งกลาง เป็นต้น ทำให้ครู นักเรียน และชาวบ้านในชุมชน มีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ด้วยปริมาณเเละเเรงดันน้ำที่เพียงพอ
โดยโครงการฯ ปีที่ 3 นี้ คณะจิตอาสา กปน. กว่า 180 คน นำโดย นายกวี อารีกุล รองผู้ว่าการ กปน. ซึ่งเป็นประธานโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 โดยมี นายนิวัฒน์ งามธุระ ปลัดจังหวัดน่าน คณะจิตอาสาในพื้นที่ และน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านยอดดอยวัฒนา ร่วมปลูกต้นไม้และให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยปีนี้คณะจิตอาสาร่วมกันปลูกไม้ยืนต้นกว่า 15,999 ต้น ปลูกหญ้าแฝกกว่า 99,999 ต้น เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 59 ไร่
นายกวี กล่าวว่า กปน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านระบบประปา มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างพื้นที่สีเขียว ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งร่วมกันดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยของเราอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ในอนาคตสืบไป
นายนิวัฒน์ งามธุระ ปลัดจังหวัดน่าน กล่าวขอบคุณ กปน. ที่เลือกพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อจัดโครงการพัฒนาและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่สำคัญของลุ่มน้ำน่าน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กรที่มีส่วนร่วมดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน แม้ กปน. จะมีพื้นที่ให้บริการในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนคนต้นน้ำของประเทศ ซึ่งน้ำน่านแห่งนี้จะเป็นน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปา เพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจสำคัญของประเทศไทยต่อไป
สำหรับการพัฒนาระบบประปาโรงเรียนในปี 2562 กปน. ได้คัดเลือกโรงเรียน 2 แห่ง ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดารและประสบปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเข้าไปจัดทำระบบประปา คือ โรงเรียนบ้านผาน้ำย้อย ที่ขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง และมีสารเคมีปนเปื้อน คณะจิตอาสา กปน. ได้สร้างระบบกรองน้ำ ติดตั้งถังพักน้ำ รวมทั้งวางท่อประปา ทำให้โรงเรียนมีน้ำสะอาดใช้ตลอดปี และอีกโรงเรียนคือ โรงเรียนบ้านเกวต ที่แม้จะมีถังพักน้ำและท่อประปาพร้อมใช้ แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรม มีจุดรั่วหลายแห่ง อีกทั้งวางท่อประปาไม่เป็นระบบ ส่งผลให้น้ำไหลอ่อน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ คณะจิตอาสา กปน. จึงได้ซ่อมแซมพร้อมวางระบบประปาใหม่ รวมทั้งติดตั้งถังพักน้ำเพิ่มเติม ทำให้โรงเรียนและชาวชุมชนมีน้ำสะอาดใช้ตลอดปี
นายอนุรักษ์ ระวังการ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านผาน้ำย้อย เปรียบเทียบก่อนและหลัง กปน. เข้ามาดำเนินการว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนขาดแคลนน้ำในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน อีกทั้งพื้นที่ข้างเคียงฉีดพ่นสารเคมี ทำให้น้ำปนเปื้อน เด็กนักเรียนนำมาใช้แล้วมีผดผื่นคัน พอเห็นว่า กปน. มีโครงการฯ จึงทำเรื่องไป ทำให้วันนี้มีระบบกรองน้ำ และมีน้ำที่สะอาดปลอดภัยใช้ ทางโรงเรียนและชุมชนขอขอบคุณ กปน. ที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ขออานิสงส์ผลบุญตรงนี้บันดาลให้จิตอาสาทุกท่านมีความสุขความเจริญ
ว่าที่ร้อยตรี สำอางค์ ใจการณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกวต บอกเล่าความรู้สึกที่ กปน. มาพัฒนาระบบประปาว่า เหมือนฟ้าบันดาลให้เราได้พบกับ กปน. เพราะเมื่อก่อนในฤดูแล้งน้ำจะแล้งมาก แต่พอ กปน. เข้ามาช่วย ก็ทำให้ระบบประปาสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี ต้องขอบคุณทีมงาน กปน. ทุกคนที่ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เหนื่อยก็ทน ร้อนก็ทน หิวก็ทน ทนสู้กับงานเพื่อชุมชน นอกจากนี้ ผอ. ได้ฝากบทกลอนจากน้อง ๆ นักเรียนมามอบให้จิตอาสาแทนคำขอบคุณว่า “ท่ามกลางอับเฉาเขลาความคิด คือชีวิตเด็กดอยที่หงอยเหงา ด้วยดักดานดุจเดินโดยดุ่มเดา มืดแห่งเงาดวงจิตอวิชชา ความเป็นไปในเส้นทางมืดมิดนั้น กปน. คือผู้สร้างสรรค์การศึกษา ชูโคมทองส่องแสงแห่งปัญญา เพื่อเสริมค่าที่ดีงามความเป็นคน”
กิจกรรมนี้ไม่ได้ดำเนินการเพียง 2 วัน แต่ทำต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ โดยก่อนที่คณะจิตอาสาชุดใหญ่จะลงพื้นที่ คณะจิตอาสาชุดแรกกว่าสิบคนได้มาเตรียมพื้นที่ปลูกป่า พร้อมก่อสร้างวางระบบประปาโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 รวมทั้งทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และเวลาส่วนตัว เนื่องจากการเดินทางไปโรงเรียนมีความยากลำบาก ต้องขึ้นเขาที่ลาดชัน เป็นดินโคลนที่เปียกแฉะอันตราย ต้องใช้รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น รวมถึงการขนส่งวัสดุอุปกรณ์และเดินท่อประปาข้ามภูเขาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
นายมานิต ปานเอม ผู้เชี่ยวชาญ กปน. ระดับ 9 ที่อยู่กับโครงการฯ มาตั้งแต่เริ่มต้น และเป็นหัวหน้าคณะจิตอาสาชุดแรกลงพื้นที่ เล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ตลอดการร่วมโครงการทั้งหมด 8 ปี ได้เห็นความตั้งใจของพนักงาน กปน. โดยเฉพาะคณะจิตอาสาชุดแรกที่ปีนี้มากัน 14 คน และต้องทำทุกอย่างในเวลาที่จำกัดเพียง 2 สัปดาห์ อีกทั้งสถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แม้วางแผนมาแล้ว แต่เมื่อมาเจอหน้างานก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมด หากทำทุกอย่างในช่วงเวลาปกติ อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน แต่เราก็ทำตลอดทั้งวันจนสำเร็จตามแผน ถือเป็นการตอบแทนชุมชนที่ดูแลต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของ กปน. จึงน่าจะมีการสานต่อ เพื่อให้โครงการที่ดีนี้ดำเนินต่อไป
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ กปน. ดำเนินโครงการปลูกป่าต้นน้ำ ร่วมกับการพัฒนาระบบประปาโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ นับว่าเป็น 8 ปีที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง เราได้เห็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ เห็นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ เห็นชาวบ้าน ครู นักเรียน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยระบบประปาที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ กปน. จึงพร้อมสานต่อโครงการฯ เพื่อฟื้นฟูผืนป่าและพัฒนาโรงเรียนและชุมชนต้นน้ำให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน
**********************************