สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 เม.ย. 68 เวลา 7.00 น.

1. วันนี้: ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนทำให้ภาคเหนือและภาคกลางมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก ฟ้าผ่าในบางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ สำหรับภาคใต้มีลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง

คาดการณ์ : วันที่ 15 –.19 เม.ย. 68 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลงจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ สำหรับภาคใต้จะมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 59% ของความจุเก็บกัก (47,814 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 41% (23,669 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 10 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล และคลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 88 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 51 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 12 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ

3. การดำเนินการตามมาตรการ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 และมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ดังนี้
กรมทรัพยากรน้ำ ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยได้ลงพื้นที่บริเวณโครงการปรับปรุงเพิ่มเติมประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำเกาะสีชัง ระยะที่ 2 หมู่ที่ 6 ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เพื่อสำรวจและตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำได้ 83,000 ลบ.ม.
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และชี้แจงรายละเอียดโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บริเวณพื้นที่บ้านนาเหนือ ต.ภูเงิน อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ และบ้านนาเยีย ต.นาเยีย อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและประโยชน์ที่ประชาชนหรือกลุ่มเกษตรกรจะได้รับจากโครงการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปดำเนินการในพื้นที่

4. การให้ความช่วยเหลือ : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ ดังนี้
กองทัพบก ดำเนินการแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในพื้นที่บ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชบริเวณคลองส่งน้ำ ต.บ้านน้อย อ.โพทะเล จ.พิจิตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำ และดำเนินการติดตั้งทุ่นกันสวะ บริเวณคลองชัยนาท–ป่าสัก เพื่อกักวัชพืชให้อยู่ในบริเวณที่กำหนด ช่วยในการดำเนินการเก็บและกำจัดวัชพืช รวมทั้งลดปัญหาการกีดขวางทางน้ำ