กรมประมงร่วมจัดงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ จังหวัดพะเยา ปี 68” งานที่รวมความสุข สนุก และบุญไว้ในเเห่งเดียว ผ่านกิจกรรมจับปลาชะโด จับหนึ่งช่วยถึงสิบ คืนสมดุลชีวิตให้กว๊านพะเยา

เมื่อวันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2568 ณ กว๊านพะเยาและลานอเนกประสงค์เทศบาลเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ จังหวัดพะเยา ประจำปี 2568” โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในสังกัด กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนในพื้นที่ เเละพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังพิธีเปิดงานว่า…งาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ จังหวัดพะเยา ประจำปี 2568” ในวันนี้ กรมประมง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมจัดกิจกรรมด้านการประมง อาทิ กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่เเหล่งน้ำธรรมชาติ รวม 2 ล้าน 5 หมื่นตัว ประกอบด้วย กุ้งก้ามกราม จำนวน 1,700,000 ตัว ปลาตะเพียน จำนวน 250,000 ตัว และ ปลาจาด 100,000 ตัว กิจกรรมแข่งขันการตกปลาชะโด การแข่งขันประกอบอาหารจากปลาชะโด กิจกรรมรับซื้อลูกปลาชะโดที่มีชีวิต เพื่อลดจำนวนประชากรปลาชะโด เเละนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปลาชะโด เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการนำพันธุ์ปลาต่างถิ่นบางชนิดมาปล่อยสู่กว๊านพะเยาและแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ โดยมุ่งหวังให้เทศกาลแห่งความสุขนี้ เป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีทั้งความสนุก อิ่มบุญ อิ่มใจ และเป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำของชุมชนตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยกิจกรรมไฮไลต์ของการจัดงานในครั้งนี้ ได้แก่ “การแข่งขันตกปลาชะโด” เพื่อเป็นการควบคุมประชากรปลาชะโดในกว๊านพะเยา กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่มอบความสนุกเร้าใจให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน แต่ยังเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการควบคุมประชากรปลาชะโด เนื่องจากปลาชะโดเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้จำนวนปลาเล็กในแหล่งน้ำลดลง ด้วยความสามารถในการปรับตัวและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จึงถือเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ที่คุกคามชีวิตปลาเล็กปลาน้อยและสัตว์น้ำท้องถิ่น การควบคุมจำนวนของพวกมันจึงเป็นการช่วยชีวิตปลาเล็กได้อีกนับสิบ ดังนั้น การควบคุมประชากรปลาชะโด จึงเป็นวิธีหนึ่งในการคืนสมดุลให้ระบบนิเวศ และช่วยรักษาแหล่งอาหารของชุมชน รวมถึงช่วยสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชน เห็นถึงคุณค่าของการดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาไว้เป็นแหล่งอาหารของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับกิจกรรมการแข่งขันตกปลาชะโดในครั้งนี้ มีนักกีฬาตกปลาทั่วประเทศเข้าร่วมประลองฝีมือ รวมทั้งสิ้น 265 คน ภายใต้กติกาการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ที่ต้องเคียงคู่กับมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ อาทิ การกำหนดขนาดและความยาวสัตว์น้ำ ผู้แข่งขันจะต้องมีคลิปวิดีโอยืนยันการจับในทุกขั้นตอนมีการกำหนดห้วงเวลาในการจับที่ชัดเจน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีรายชื่อผู้ชนะการแข่งขันในประเภทต่างๆ ดังนี้

ประเภทเหยื่อสด

ชนะเลิศที่ 1 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 089 นายทวีศักดิ์ วรมิตร จับได้น้ำหนักรวม 5.97 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 50,000 บาท

ชนะเลิศที่ 2 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 147 นายเดช ดวงไชยา จับได้น้ำหนักรวม 4.270 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 40,000 บาท

ชนะเลิศที่ 3 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 062 นายนิคม นามบ้าน จับได้น้ำหนักรวม 4.170 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 30,000 บาท

ประเภทเหยื่อปลอม

ชนะเลิศที่ 1 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 001 นายณัฐวุฒิ ใจชุ่ม จับได้น้ำหนักรวม 7.665 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 50,000 บาท

ชนะเลิศที่ 2 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 053 นายปะดิพัทธ์ ทุเรียน จับได้น้ำหนักรวม 5.845 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 40,000 บาท

ชนะเลิศที่ 3 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 084 นายศิรา ชาวน่าน จับได้น้ำหนักรวม 2.630 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 30,000 บาท

และสำหรับกิจกรรมการแข่งขันการทำอาหารจากปลาชะโด จำนวน 2 เมนู ได้แก่ ลาบปลาชะโด และต้มยำปลาชะโดชิงเงินรางวัล มีทีมที่เข้าเเข่งรวม 10 ทีม โดยทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมปกครองตำบลบ้านต๋อมได้เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยทุกกิจกรรมการแข่งขันได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจากมูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่า