วันที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 08.00 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกิจกรรมส่งเสริม สืบสานและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2568 โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ในโอกาสนี้ ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีบำเพ็ญกุศลให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม พิธีตักบาตรพระสงฆ์ พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและการรดน้ำขอพรจากผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรม ได้แก่ การร้อยมาลัย ต้นแบบการจัดชุดไหว้ขอพรจากผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย
ทั้งนี้ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ นับเป็นกิจกรรมหนึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์อันมีคุณค่า รวมไปถึงการเล่นน้ำ ประแป้ง เข้าวัดทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำพระ ท่องเที่ยว เดินทางกลับภูมิลำเนา กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกัน ถือเป็นวาระแห่งความรัก ความกตัญญู ความสุขในครอบครัว และยังสื่อถึงความหลายหลายทางอัตลักษณ์ของสงกรานต์ในแต่ละจังหวัด เป็นความแตกต่างในความเหมือน เป็นประเพณีไทยที่ส่งพลังแห่งความสุขให้ทั่วโลก ช่วยเสริมความเป็น Soft Power ของไทย ซึ่งประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อปี พ.ศ. 2566
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2568 ของกระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก” (Once in a Lifetime: Experience Songkran in Thailand) ปีนี้ มุ่งเน้นการจัดงานภายใต้กรอบแนวทาง 4 มิติ 17 มาตรการรณรงค์ ได้แก่ มิติด้านวัฒนธรรม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นเรื่องคุณค่าสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม คำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นที่มีภูมิหลังของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ รวมถึงการร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีการเปิดเวทีประชุมวิชาการ “สงกรานต์ศึกษา” ภายใต้หัวข้อ “สงกรานต์กับชีวิตไทย: ความเป็นไปในความเปลี่ยนแปลง” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และศิลปินแห่งชาติ ร่วมถ่ายทอดมุมมองลึกซึ้งในหลากหลายมิติ ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดัน “สงกรานต์ไทย” สู่เวทีโลก และกำหนดจัดงานในพื้นที่ 17 จังหวัด และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร ในส่วนของการจัดงาน 5 เมืองอัตลักษณ์ ได้แก่ การจัดงานประเพณี ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง จังหวัดเชียงใหม่ (12 – 16 เม.ย. 68) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ นิทรรศการสงกรานต์ล้านนา การแสดงศิลปวัฒนธรรม การทำบุญตักบาตรวันสงกรานต์ , การจัดงานวิถีชีวิตชาวอีสาน ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น (8 – 15 เม.ย. 2568) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์อีสานดั้งเดิม งานสืบสานสงกรานต์วิถีไทยบ้าน รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เทศกาลดอกคูนเสียงแคน การแสดง แสงสีเสียง การเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ , การจัดงาน ชลบุรี อัตลักษณ์วิถีชีวิต Pattaya Old Town (17 – 19 เม.ย. 2568) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ รำวงย้อนยุค การละเล่นพื้นบ้าน การสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ ประติมากรรมเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, การจัดงานสมุทรปราการ อัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนมอญ (12 – 13 และ 25 – 27 เม.ย. 68) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สาธิตการทำธงตะขาบ การละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) ขบวนรถบุปผชาติ วิถีชีวิตชุมชนมอญ และการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร หนึ่งเดียวในไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช (11 – 15 เม.ย. 68) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สรงน้ำพระบรมธาตุ ประเพณีแห่นางดาน และพิธีโล้ชิงช้า หนึ่งเดียวในไทย
พร้อมด้วย 12 เมืองน่าเที่ยว ที่มีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน และจังหวัดนครสวรรค์ ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดสุรินทร์ ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดภูเก็ต
และในพื้นที่ส่วนกลาง 5 จุดหมายกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สยาม – สามย่าน (เขตปทุมวัน) ถนนสีลม (เขตบางรัก) ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ (เขตคันนายาว) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (เขตพระนคร) ท้องสนามหลวง
โดยเน้นบรรยากาศดั้งเดิม คำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และความเหมาะสมตามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ พร้อมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้าน ในการแสดงทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนงานตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำทำเนียบนามศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้านทุกสาขา เพื่อให้สะดวกสำหรับการจ้างงานและการประสานงาน