1. วันนี้ : ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน กับมีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 12 –15 เม.ย. 68 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 60% ของความจุเก็บกัก (48,349 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 42% (24,147 ล้าน ลบ.ม.)
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 10 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร
ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล และคลองสียัด
– เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 82 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 46 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (9 เม.ย. 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2568 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
(1) เห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการภายใต้แผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ ประกอบด้วยแผนฯ ระยะสั้น (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568) และระยะยาว (ปีงบประมาณพ.ศ. 2569 – 2571)
(2) เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ด้านทรัพยากรน้ำในสภาวะวิกฤต โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยในสถานการณ์วิกฤตด้านน้ำให้ทันสถานการณ์และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนได้มากที่สุด
(3) เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ ซึ่งเป็นการจัดทำแผนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย “นิเวศทรัพยากรน้ำได้รับการฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมความมั่นคงน้ำด้านอุปโภคบริโภค ความมั่นคงน้ำภาคการผลิตในพื้นที่เกษตรน้ำฝน และบรรเทาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ”
(4) เห็นชอบผังน้ำ จำนวน 3 ผังน้ำ ได้แก่ ผังน้ำลุ่มน้ำมูล ผังน้ำลุ่มน้ำป่าสัก และผังน้ำลุ่มน้ำปิง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
(5) เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
(6) เห็นชอบให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานที่ตรงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานอื่น
ทั้งนี้ ประธาน กนช. เน้นย้ำให้มีการเตรียมมาตรการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สำหรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
กับประชาชนให้ได้มากที่สุด
4. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค : แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร : แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน