สอศ. หนุนงบ 12 ล้านช่วยสถานศึกษาอาชีวะจมน้ำ และจัดทีมช่วยเหลือฟื้นฟู ซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่น้ำท่วม

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำนักศึกษาอาชีวศึกษา ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ( Fix it Center)เตรียมฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ในระยะเร่งด่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สถานศึกษา ในสังกัด สอศ. ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากพายุโพดุล ดูแล ซ่อมแซมฟึ้นฟูสถานศึกษาของตนเอง ให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว พร้อมทั้งมอบหมายให้สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ใกล้เคียง จัดเตรียมทีมนักศึกษาออกหน่วยฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน หลังน้ำลดในรูปแบบ Fix it Center

 

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สอศ.เตรียมส่งงบประมาณให้สถานศึกษา รวมจำนวน กว่า 12,000,000 บาท เพื่อให้สถานศึกษาได้นำไปใช้ในการออกศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ให้บริการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ โดยเมื่อวานนี้ (19 กันยายน 62) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ของอาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ในพื้นที่ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งให้บริการโดยคณะครู นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพวารินชำราบ ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุม (Fix it Center) ในพื้นที่น้ำท่วมต่าง ๆ ได้ดำเนินการออกให้บริการตั้งแต่น้ำท่วมเข้าพื้นที่ เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยการช่วยขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ จัดถุงยังชีพ ทำอาหารพร้อมน้ำดื่ม แจกจ่าย ให้ประชาชน จนถึงขณะนี้ ยังออกให้บริการในจุดต่าง ๆ เพื่อซ่อมแซมระบบน้ำ ระบบไฟ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และเครื่องมืออุปกรณ์ทำมาหากินของชาวบ้าน

สำหรับทีมนักศึกษาอาชีวศึกษา ของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุม (Fix it Center) สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา ได้กำชับให้สถานศึกษาคำถึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาทุกคน ที่ออกหน่วยช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ พร้อมกันนี้การออกทำกิจกรรมซ่อมสร้างในชุมชนถือเป็นห้องเรียนที่จะช่วยเสริมทักษะ การฝึกปฏิบัติงานในวิชาชีพของนักศึกษาอาชีวศึกษา และเป็นการบ่มเพาะจิตอาสาให้กับเยาวชน อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามหลังการช่วยเหลือฟื้นฟูน้ำท่วม สถานศึกษาในสังกัด จะต้องสอนชดเชยให้ครบจำนวนชั่วโมงที่ขาดหายไป โดยนัดหมายเรียนเพิ่มเติม ในวันหยุด หรือ กำหนดนัดหมายการสอบใหม่ เพราะสถานศึกษาบางแห่งอยู่ในช่วงเวลาการสอบกลางเทอมพอดี เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าว

/////////////////////////////////////////////////////
กลุ่มประชาสัมพันธ์
20 กันยายน 2562