NSM จับมือพันธมิตร คัด 4 ตัวแทนนักสื่อสารวิทย์ฯ ยอดเยี่ยม YTSA ศึกษาดูงานสหพันสาธารณรัฐเยอรมนี

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ปิดฉากโครงการ ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ครั้งที่ 20 (YTSA 20th) สุดยิ่งใหญ่ ภายใต้หัวข้อ “หมุนเวียนและยั่งยืน คืนชีวิตให้โลก – Net Zero and the Circular Economy” พร้อมประกาศผล 4 เยาวชนคนเก่ง คว้าตำแหน่งสุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เตรียมพร้อมเปิดประสบการณ์ศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุดล้ำ ณ สหพันสาธารณรัฐเยอรมนี

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา บรรยากาศเต็มไปด้วยความยินดีและภาคภูมิใจ เมื่อ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ NSM พร้อมด้วย ดร.ชนินทร์ กุลเศรษฐธัญชลี อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ, คุณอันเดรอัส เคล็มพิ้น ผู้จัดการโครงการในภูมิภาคอาเซียน สถาบันเกอเธ่ฯ และคุณชญาณี ฉลาดธัญญกิจ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมเป็นสักขีพยานและมอบรางวัลแก่ 10 เยาวชนผู้โดดเด่น จากผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการอบรมและพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นทั้งสิ้น 26 คน ณ NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า “ขอชื่นชมเยาวชนทั้ง 26 คน ที่ได้แสดงศักยภาพด้านการสื่อสารอันโดดเด่น ทุกคนล้วนเป็นตัวแทนอันน่าภาคภูมิใจในฐานะทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยรุ่นที่ 20 ผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ได้ถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ให้คนในสังคมได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของ กระทรวง อว. ที่สนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ ด้วยการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ และส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน เพื่อปลูกฝังให้เกิดความสนใจและความเข้าใจในวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับเยาวชนผู้ได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมและดีเด่นทั้ง 10 ท่าน ทุกคนล้วนเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างยิ่ง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีแห่งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความสำเร็จของเยาวชนเหล่านี้ ให้เติบโตเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยและโลกของเราในอนาคตอย่างแท้จริง”

ในปีนี้ ผู้ที่สามารถคว้า รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม มีทั้งสิ้น 4 ท่าน โดยสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเรื่องราววิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยในการร่วมกิจกรรมด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในเดือนกรกฎาคม 2568 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ณ สหพันสาธารณรัฐเยอรมนี ได้แก่

1.นายกล้องหนึ่ง นำแสงวาณิช จาก มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในผลงาน : ความคาดหวังสู่ความไม่คาดฝัน

2.นางสาวปณิตา ฉวิกขุนรัมย์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในผลงาน : Trust the Tuna

3.นางสาวพิมพ์แพรวา พุทธรักษ์ขิต จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ในผลงาน : อันอ้อยตาลหวานลิ้นกินแล้ว “ไม่” สิ้นซาก

4.นางสาววริศรา กุลชัยพานิช จาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ในผลงาน :Decarbonizing Steel: Hydrogen for a sustainable tomorrow

และรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 6 ท่าน ซึ่งได้รับทุนการศึกษาคนละ 5,000 บาท พร้อมโอกาสได้ร่วมงานกับ NSM ในภารกิจต่าง ๆ ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ต่อไป ได้แก่

1.นางสาวเตชินี อนังคพันธ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในผลงาน : ชาร์จแบตยังไงให้รักโลก

2.คุณปัณณ์พิตรา ภูธร จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในผลงาน : ขวดน้ำธรรมดา สู่เสื้อผ้ารักษ์โลก

3.นางสาวพิทยาภรณ์ พุทธสินธุ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในผลงาน : 2220

4.นายเมฆินทร์ วงศ์ศรีลา จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร ในผลงาน : แค่เลือกร้านตัดผมก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดกลุ่ม

5.นางสาวยอดขวัญ อาจทะนงค์ จาก มหาวิทยาลัยพะเยา ในผลงาน : รถไฟฟ้า ลดมลพิษ

6.นางสาวยาลิกา สอาดเมือง จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในผลงาน : เศษผักสร้างไฟฟ้า