เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นางสาวกนิษฐา กังสวนิช) นำทีมลงพื้นที่แหล่งผลิต “ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม” เพื่อพบเกษตรกรในพื้นที่หารือแนวทางการส่งเสริมการตลาดและการรักษาคุณภาพสินค้าที่ยั่งยืน พร้อมทั้งผลักดันให้ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อให้ได้รับอนุญาตการใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทยอย่างต่อเนื่อง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า นอกจากการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้า GI กรมฯ จึงได้มีการควบคุมคุณภาพ กระบวนการผลิต เพื่อให้สินค้า GI ได้มาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ถึงแหล่งที่มาของการผลิตได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและดำเนินการตามนโยบายในการผลักดันและพัฒนาคุณภาพสินค้า GI ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นางสาวกนิษฐา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม ถือเป็นสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงครามที่เป็นเมืองสามน้ำ ได้แก่ น้ำจืดจากแม่น้ำแม่กลอง น้ำกร่อยบริเวณตอนกลางแม่น้ำ และน้ำเค็มบริเวณปากอ่าว ด้วยลักษณะพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล มีคลองเชื่อมต่อกว่า 300 สาย ส่งผลให้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามมีลักษณะเด่นเปลือกหนามตั้ง หนามแหลมห่าง ไม่เป็นกระจุก เนื้อเต่ง เนื้อหนากรอบ แห้ง ไม่แฉะ สีขาวอมชมพู เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ปลูกในพื้นที่ตำบลบางขันแตก อำเภอเมือง อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนทีของจังหวัดสมุทรสงคราม ครอบคลุม 5,093 ไร่ โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดรวมกว่า 3,500 ตัน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดมูลค่ากว่า 525 ล้านบาท หลังจากที่ประสบปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงในปีที่ผ่านมาทำให้ไม่มีผลผลิต
ในปีนี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับทุกท่านในการได้อุดหนุน “ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม” ซึ่งเป็นการออกผลผลิตในรอบ 2 ปี โดยเฉพาะสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ GI ท่านใดสนใจซื้อลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามสามารถร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2569 กรมฯ มีแผนที่จะสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวด้วย