ท๊อป วราวุธ ชวนคนไทย “ทำบุญให้ได้บุญ ทำบุญลดขยะพลาสติก” ลดภาระการจัดการขยะให้วัดและพระสงฆ์

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รณรงค์เชิญชวนให้คนไทย “ทำบุญให้ได้บุญ ทำบุญลดขยะพลาสติก” ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทยลดการใช้ถุงพลาสติกในการทำบุญใส่บาตรในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลทำบุญใหญ่เนื่องในวันออกพรรษาที่กำลังจะมาถึง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของการจัดการขยะในวัด อีกทั้งเพื่อให้การทำบุญของพุทธศาสนิกชนชาวไทยไม่เป็นการส่งต่อภาระการจัดการขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากให้กับวัดและพระสงฆ์

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า ปัจจุบันขยะพลาสติกซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยากใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า ๔๕๐ ปี กำลังสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นในทุกขณะ ทั้งการเล็ดลอดออกไปสู่ทะเลจนกลายเป็นแพขยะทะเลปริมาณมหาศาลอยู่ในมหาสมุทร การเป็นสาเหตุสำคัญของการคร่าชีวิตสัตว์ทะเลหายากไม่ว่าจะเป็น วาฬ เต่าทะเล หรือพะยูน ที่คิดว่าขยะพลาสติกคืออาหาร และการแตกตัวของพลาสติกบางชนิดกลายเป็นไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถปนเปื้อนอยู่ได้ทั้งในสัตว์ทะเล ดิน น้ำ และอากาศ ที่กำลังย้อนกลับมาสู่เราทุกคน ซึ่งปัจจุบันพบว่า หนึ่งในสถานที่ที่กำลังประสบกับปัญหาขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก คือ วัด หรือศาสนสถานของพุทธศาสนิกชนชาวไทย

จากการดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยกำหนดให้มีการประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดใน ๕ หมวดสำคัญ ได้แก่ ๑) ด้านความสะอาด ความเป็นระเบียบ ๒) ด้านพื้นทีสีเขียว ๓) ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ๔) ด้านการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และ ๕) ด้านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พบว่า ปัจจุบันวัดหลายแห่งโดยเฉพาะวัดในเขตเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาการจัดการขยะในวัด ที่มาจากกระแสสังคมในปัจจุบันที่นิยมความสะดวกสบายทำให้วิถีการทำบุญเปลี่ยนแปลงไป เช่น นิยมถวายอาหารสำเร็จรูปที่บรรจุในถุงพลาสติกและถุงพลาสติกหูหิ้ว การถวายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติก รวมไปจนถึงการใช้พวงหรีดดอกไม้สดที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อีกนอกจากการนำไปกำจัดทำลาย นอกจากนี้ ในการจัดงานต่าง ๆ ในวัด ไม่ว่าจะเป็น งานบุญ งานบวช หรืองานศพ ต่างนิยมใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แก้วพลาสติก ช้อน-ส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก เพื่อความสะดวกสบายโดยไม่ต้องล้างทำความสะอาด เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดขยะและขยะพลาสติกจำนวนมากที่เป็นภาระต่อพระสงฆ์และบุคลากรในวัดที่ต้องรับผิดชอบกำจัดทำลาย

จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบันมีวัดทั่วประเทศกว่า ๔๐,๐๐๐ วัด เป็นวัดในเขตกรุงเทพมหานครกว่า ๔๐๐ วัด หากแต่ละวัดมีปริมาณขยะในแต่ละวันเฉลี่ย ๕๐-๖๐ กิโลกรัม (ข้อมูลปริมาณขยะเฉลี่ยต่อวันของวัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ) เท่ากับว่าใน ๑ วันจะมีปริมาณขยะในวัดเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครสูงถึง ๒๐,๐๐๐-๒๔,๐๐๐ กิโลกรัมต่อวัน และหากมีการจัดงานหรือการจัดกิจกรรมในวัดปริมาณขยะในแต่วันก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว หรือประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อวัน

อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะและขยะพลาสติกในวัดดังกล่าว จึงมีนโยบายมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รณรงค์เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติกและถุงพลาสติกหู้หิ้วใส่อาหารถวายพระในการทำบุญใส่บาตรในชีวิตประจำวัน ตลอดจนในโอกาสเทศกาลทำบุญใหญ่เนื่องในวันออกพรรษาที่กำลังจะมาถึงนี้ ที่จะมีทั้งการตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และการทำบุญทอดกฐิน ซึ่งจะเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของวัดจำนวนมาก

โดยขอให้คำนึงถึงการทำบุญที่ไม่สาร้างภาระทางสิ่งแวดล้อมให้กับวัด ช่วยลดปริมาณขยะและขยะพลาสติกในวัด เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ปิ่นโต กล่องใส่อาหาร การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบบัว แทนการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม รวมถึงการใช้ถุงผ้า ตะกร้าใส่ของไปทำบุญ หรือใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่จตุปัจจัย เครื่องไทยธรรม ไทยทาน ถวายพระสงฆ์ เป็นต้น เพื่อให้การทำบุญใส่บาตรของพุทธศาสนิกชนชาวไทยนับจากนี้ไป เป็นการทำบุญที่ได้บุญอย่างแท้จริง เป็นการทำบุญที่ไม่ก่อภาระทางสิ่งแวดล้อมให้กับวัด และลดภาระในการจัดการขยะและขยะพลาสติกให้กับพระสงฆ์และบุคลากรในวัด ทั้งยังเป็นการช่วยลดโอกาสการสร้างขยะพลาสติกที่อาจเล็ดลอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมจนก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย

นอกจากนี้ นายรัชฏา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวัดหลายแห่งในประเทศไทยเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการขยะที่หลายแห่งมีการคัดแยกขยะเพื่อนำขยะที่ยังมีประโยชน์กลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดเป็นจำนวนมาก เช่น ขยะเศษอาหารนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการบำรุงต้นไม้ในวัด การคัดแยกขยะพลาสติก โดยเฉพาะขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล การส่งเสริมให้ใช้หรีดทางเลือกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นต้น ซึ่งจากการประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดล่าสุด ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมกว่า ๑๑๒ วัด โดยมีวัดที่อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมกว่า ๔๓ วัด อาทิ วัดศรีคำชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ วัดเทพมงคลทอง อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ วัดศรีประทุมวนาราม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งนอกจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในวัด เช่น คุณภาพอากาศ คุณภาพเสียง คุณภาพน้ำ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดที่ต้องมีการจัดการให้มีคุณภาพที่ดีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วยเช่นกัน

*********************************************