กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดการประชุมแสดงความคิดเห็นและปรึกษาหารือเกี่ยวกับร่างผังนโยบายระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการวางผังนโยบายระดับประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังนโยบายระดับประเทศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยมี นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุม นางสาวจริยาพร จิตต์ใจมั่น รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวรายงาน นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุเทพ ประเทืองโภคเจริญ ผู้อำนวยการสำนักผังประเทศและผังภาค นายไพรัตน์ ทรงเย็น โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายปรีดี สถิตย์ชัยวัฒนา โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดศรีสะเกษ นายกำพล สีกา โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดขอนแก่น นายวีระพล จำปาสกุล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรอิสระ ภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม จำนวนกว่า 800 คน ณ โรงแรมเซ็นทารา โคราช จังหวัดนครราชสีมา

นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การวางผังนโยบายระดับประเทศจะเป็นกรอบนโยบายในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทยในอนาคต โดยคำนึงถึงหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนาเมืองและชนบทให้เติบโตอย่างสมดุล สร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ผังนโยบายระดับประเทศจะช่วยชี้นำการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญไปยังภูมิภาค ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคอาเซียน สนับสนุนให้มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เหมาะสมและปลอดภัย พัฒนาเมืองที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ และเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของประเทศให้ได้มาตรฐานสากล อนุรักษ์พื้นที่มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นต้นทุนในการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในด้านเทคโนโลยีและสังคม เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเมืองที่รองรับสังคมสูงวัย

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผังนโยบายระดับประเทศได้กำหนดทิศทางการพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้า เศรษฐกิจชีวภาพ การท่องเที่ยวอารยธรรมขอม และประตูการค้าสู่อินโดจีน ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และพืชพลังงานที่สำคัญของประเทศ อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของประเทศไทยควบคู่ไปกับศักยภาพด้านปศุสัตว์ โดยเฉพาะโคขุนโพนยางคำที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในฐานะเมืองประตูการค้า และศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อีกทั้งเป็นหมุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยเฉพาะแหล่งอารยธรรมขอมโบราณ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

นางสาวจริยาพร จิตต์ใจมั่น รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการวางและจัดทำผังนโยบายระดับประเทศ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการในด้านการใช้พื้นที่ การพัฒนาเมืองและชนบท โครงสร้างพื้นฐานหลัก การพัฒนาพื้นที่พิเศษและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาในทุกมิติ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การจัดทำร่างผังนโยบายระดับประเทศ ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ กรอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ และแผนผังทางด้านกายภาพ เพื่อการพัฒนาหรือการอนุรักษ์ของประเทศ 8 ด้าน 14 สาขา รวมทั้ง นโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการ รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผังนโยบายระดับประเทศ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือ เกี่ยวกับร่างผังนโยบายระดับประเทศ ทั้งในรูปแบบ On – site และรูปแบบ Online ในพื้นที่ 6 ภาค ได้แก่ ภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และขอนแก่น ซึ่งจะได้นำเสนอภาพรวมของร่างผังนโยบายระดับประเทศ กรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ กรอบนโยบายการพัฒนาภาค และผังนโยบาย 14 สาขา ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงร่างผังนโยบายระดับประเทศให้มีความสมบูรณ์ และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในปี 2568 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป